CBOX เสรีชน

08 กุมภาพันธ์, 2552

ต้องฟังคำวิจารณ์!



คอลัมน์ : โต๊ะข่าวประชาทรรศน์
05 ก.พ. 2009

โดย อัชฌาวดี

เป็นข้อชี้แนะที่น่าสนใจกรณีที่ นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ไม่เห็นด้วยกับการจัดงบกลางปีของพรรคประชาธิปัตย์

โดยเฉพาะการจ่ายเงิน 2,000 บาท ให้กับผู้มีรายได้ประจำไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท ว่าไม่ใช่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ
กระทั่งภายหลัง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ต้องออกมาขอบคุณสำหรับความเห็นของนายบรรหาร

ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ แสดงความมั่นใจว่าเงินที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จะถูกนำไปจับจ่ายใช้สอยในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งได้พบปะกับประชาชนจำนวนไม่น้อยที่รอคอยเงินตรงนี้ เพราะขณะนี้กำลังประสบความยากลำบาก

รัฐบาลอาจคิดว่าการแจกเงินจำนวน 2,000 บาท ประชาชนจะนำไปใช้จ่ายทำให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่อย่าลืมว่า บางคนอาจนำเงินไปใส่กระเป๋าเฉยๆ ก็ได้

นักเศรษฐศาสตร์ออกมาวิเคราะห์ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ตรงจุดเท่าที่ควร เพราะการหว่านเงินเพื่อซื้อใจมวลชนอาจสูญเงินเปล่าไม่เกิดความยั่งยืน

หลายคนวิตกกังวลถึงความยั่งยืนในเม็ดเงินที่ไหลลงไปว่าทำอย่างไรจะไม่เป็น เพียง “ไฟไหม้ฟาง” ระยะ 1-2 เดือน แต่หลังจากนั้นกลับไปสู่สภาพเดิม

นักเศรษฐศาสตร์หลายท่านตอกย้ำถึงความผิดพลาดที่เกิดจากการเลือกใช้ “นโยบายประชานิยม” โดยเสนอว่าวิธีแก้ไม่ใช่การนำเงินไปแจก

หากแต่ต้องเข้าไปสร้างความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงินให้สามารถกล้าที่จะ ปล่อยกู้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี และธุรกิจขนาดกลางขนาดใหญ่ ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน
ต้องไปทำขบวนการเรื่องความเชื่อมั่น เพราะเมื่อแบงก์ปล่อยกู้ออกมาเงินก็จะหมุนเวียนไม่ได้สูญหายไปไหน

ฉะนั้น ทางรัฐบาลต้องขยายเครือข่ายในเรื่องการค้ำประกันสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นหน่วยราชการสังกัดกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ การแจกเงินเพื่อการกุศลเพื่อซื้อใจมวลชนอย่างเดียวอาจได้ผล แต่เป็นเพียงระยะสั้น และไม่สมาร์ท

นายวิษณุ บุญมารัตน์ อาจารย์ประจำคณะการจัดการและการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยบูรพา ให้ความเห็นว่า มาตรการส่วนใหญ่ที่ทางรัฐบาลชุดนี้ประกาศออกมาให้คำจำกัดความว่าเป็นนโยบาย แบบ "อภิมหาประชานิยม"

เนื่องจากทำให้ประชาชนเกิดภาวะพึ่งพิงรัฐบาลมากที่สุด ทั้งนี้ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้ประกาศนโยบายในการบริหารประเทศแบบเศรษฐกิจพอ เพียง แต่นโยบายที่ออกมาล้วนต้องใช้เม็ดเงินที่สูงทั้งสิ้น
ยกตัวอย่างเช่น นโยบายเรียนฟรี ที่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มธุรกิจอุปกรณ์การเรียน หนังสือ และเครื่องเขียน

ทั้งหมดนี้เป็นการใช้เงินที่ถือว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่ได้กระจายรายได้ให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยจริงๆ หรือผู้ที่ตกงาน

เป็นเหมือนการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด เพราะปัญหาปัจจุบันคือปัญหาของการว่างงาน รัฐบาลควรจะแก้ไขปัญหาตรงส่วนนี้ด้วยการเอาเม็ดเงินของรัฐบาลมาจ้างงานเพิ่ม ให้กับผู้ว่างงานดีกว่าการนำเงินไปกระจายให้ผู้มีงานทำอยู่แล้ว
เพราะเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีหนี้สิน การได้เงินเพิ่มก็จะนำเงินส่วนนี้มาจ่ายหนี้สินเดิม ที่ไม่ได้กระจายรายได้ต่อ

ที่รัฐบาลอ้างว่า เงินกว่า 50% ได้ไหลลงสู่รากหญ้านั้นจริงๆ แล้ว เงินก็จะมีการไหลกลับมาสู่ภาคธุรกิจที่แทรกซึมลงสู่รากหญ้ามากกว่า

สินค้าที่จะได้รับอานิสงส์ในการกระจายรายได้ของรัฐบาลสู่รากหญ้าในครั้งนี้ คือ สินค้ากลุ่มมอเตอร์ไซค์ รถกระบะ หรือแม้กระทั่งกลุ่มค้าปลีกต่างๆ อย่างเช่น สินค้าอุปโภค บริโภค มากกว่าการช่วยเหลือกลุ่มประชาชนที่มีปัญหาตกงาน

ข้อท้วงติงของนายบรรหาร และคำวิจารณ์ของนักวิชาการเหล่านี้ล้วนมีคุณค่ายิ่งนัก พรรคประชาธิปัตย์น่าจะนำไปไตร่ตรองดูนะครับ!

ไม่มีความคิดเห็น: