หน้าที่ 1 - ATLAS หน้าต่างย้อนเวลาสู่จุดกำเนิดเอกภพ
โดยฮิกส์แมน
อย่างที่หลายคนคงได้อ่าน ได้ฟัง หรือได้ดู จากสื่อต่างๆ ถึงข่าวการทดลองทางวิทยาศาสตร์ครั้งสำคัญ ของการเร่งอนุภาคด้วยเครื่องเร่งอนุภาคขนาดเส้นรอบวงกว่า 27 กิโลเมตร ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อสร้างสภาวะให้ใกล้เคียงกับสภาวะเศษเสี้ยววินาทีหลังการเกิด Big Bang สำหรับทำการศึกษา ปรากฏการณ์คุณสมบัติและอันตรกิริยาระหว่างกันขององค์ประกอบขั้นพื้นฐานที่ สุดของจักรวาล
เครื่องเร่งอนุภาคขนาดยักษ์ดังกล่าวมีชื่อตามขนาดที่ใหญ่ (Large) และชนิดของอนุภาค (Hadron) ที่เร่งให้มาชนกัน (Collide) ว่า เครื่องเร่งอนุภาค Large Hadron Collider หรือเรียกสั้นๆ ว่า LHC
ในขณะที่เครื่อง LHC มีหน้าที่เร่งอนุภาคให้มาชนกันที่พลังงานสูงเพื่อสร้างสภาวะในเศษเสี้ยว วินาทีหลังจากการเกิด Big Bang สิ่งที่เปรียบเสมือนหน้าต่างที่จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถมองผ่านเข้าไป เห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากเครื่อง LHC คือเครื่องมือที่มีชื่อว่า “เครื่องตรวจจับอนุภาค” หรือ “Particle Detector”
หากไม่มีเครื่องมือชิ้นนี้แล้ว สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่ LHC จะเป็นเพียงการชนกัน และสลายตัวไปของอนุภาค อย่างไม่มีการรับรู้หรือตรวจบันทึกใดๆ ไว้ เลย
ภาพแสดงโครงสร้างของเครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS ที่ CERN
จากจำนวนเครื่องตรวจจับอนุภาค สี่เครื่องที่ถูกสร้างและออกแบบมารองรับโปรแกรมการศึกษาวิจัยของโครงการ LHC เครื่องที่ใหญ่ที่สุดและทรงอนุภาพมากที่สุด คือเครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS
ATLAS เป็นคำย่อมาจากชื่อเต็มว่า A Toroidal LHC Apparatus ซึ่งเป็นชื่อที่ตั้งตามรูปทรงของแม่เหล็ก (Toroid) อันเป็นหัวใจหลักของเครื่องตรวจจับอนุภาค และ คำว่า Apparatus มาจาก จุดประสงค์หลักของ ATLAS ซึ่งก็คือ เป็นเครื่องมือสำหรับศึกษา ปรากฏการณ์ทุกชนิดเท่าที่จะเป็นไปได้ ในสภาวะการทดลองที่เกิดขึ้นจากเครื่อง LHC
ก่อนที่จะอธิบายว่านักฟิสิกส์ใช้เครื่อง ATLAS มองย้อนเวลาศึกษาการก่อกำเนิดจักรวาลได้อย่างไร ผมจะขออธิบายถึงส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่อง ATLAS เพื่อเป็นพื้นฐานเบื้องต้นเสียก่อน
อันดับแรก สิ่งที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจของ ATLAS ก็คือแม่เหล็กทอรอยด์ (Toroid Magnet) ดังจะเห็นได้จากตัวอักษร T ที่อยู่ในชื่อของ ATLAS
สนามแม่เหล็กที่เกิดจากแม่เหล็ก Toroid ของ ATLAS ทำให้อนุภาคเดินทางเป็นเส้นโค้ง และจากการวัดรัศมีความโค้งของการเคลื่อนที่ นักฟิสิกส์จะสามารถคำนวณหาค่าโมเมนตัมของอนุภาคนั้นๆได้ โดยอาศัยหลักทางฟิสิกส์ที่ว่า เมื่ออนุภาคมีประจุเคลื่อนที่ผ่านสนามแม่เหล็ก แรงที่กระทำกับอนุภาคจะมีค่าขึ้นอยู่กับสนามแม่เหล็ก(B) ขนาดของประจุ (q) และความเร็วของอนุภาค (v) นั้นๆ เขียนเป็นสมการได้ว่า Fz = qv × B แรงดังกล่าวเรียกว่าแรงลอเรนซ์ (Lorentz Force)
เมื่อให้แรงลอเรนซ์ Fz เป็นแรงเข้าสู่ศูนย์กลางจะได้ว่า Fz = Fc = mv2/R โดยที่ R เป็นรัศมีของเส้นโค้ง เราก็จะหาโมเมนตัมได้จากความสัมพันธ์ qv × B = mv2/R และค่าโมเมนตัมของอนุภาคจะได้เท่ากับ p = mv = qBRsinθ
ภาพแสดงการติดตังหนึ่งในแปดแม่เหล็ก Toroid ของ ATLAS
เนื่อง จาก อนุภาคที่ต้องการตรวจวัด มีการเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเป็น 0.999999 เท่าของความเร็วแสง มันจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายนักฟิสิกส์อย่างมาก ที่จะสร้างสนามแม่เหล็กให้มีพลานุภาพเพียงพอที่จะทำให้อนุภาคเหล่านั้นมีการ เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้งในขอบเขตที่จำกัด
สำหรับเครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS ได้ถูกออกแบบให้ใช้แม่เหล็กประเภท superconducting magnet ซึ่งต้องใช้ระบบ cryogenic ทำให้ขดลวด superconducting มีอุณหภูมิต่ำกว่า -269 องศาเซลเซียส เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กขนาดกว่า 3.9 Tesla หรือประมาณ 65000 เท่าของสนามแม่เหล็กโลก สำหรับควบคุมให้อนุภาคมีประจุเลี้ยวเบน
นอกจากแม่เหล็กแล้ว องค์ประกอบหลักที่สำคัญของ ATLAS อีกส่วน ก็คือ เลเยอร์แต่ละเลเยอร์ ที่เรียงตัวกัน ประกอบเป็นปริมาตรเกือบทั้งหมดของเครื่อง
เลเยอร์แต่ละเลเยอร์ของ ATLAS เรียงตัวกันเหมือนกับเลเยอร์ของหัวหอม และทำหน้าที่ตรวจจับอนุภาคต่างๆชนิดกัน ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำเลเยอร์นั้นๆ
เรียงตามลำดับ จากด้านในไปด้านนอก เลเยอร์ทั้ง 4 เลเยอร์ของ ATLAS ได้แก่ 1) Inner Detector, 2)Electromagnetic Calorimeter, 3) Hadronic Calorimeter และ 4) Muon Spectrometer ดังแสดงในภาพ
ภาพแสดงของส่วนประกอบภายในเครื่อง ATLAS
1) Inner Detector ซึ่งเป็นเลเยอร์ชั้นในสุด และอยู่ใกล้กับ จุดปะทะของโปรตรอนมากที่สุด ประกอบไปด้วยเลเยอร์แบ่งย่อยลงไปอีก 3 เลเยอร์ได้แก่ Pixel Detector, Transition Radiation Tracker, และ Semiconductor Tracker ทั้ง 3 เลเยอร์ดังกล่าวของ Inner Detector มีหน้าที่หลักเหมือนกัน ซึ่งก็คือ การวัดเส้นทางการเดินทาง (track) ของอนุภาคต่างๆ ที่พวยพุ่งมาราวกับสายฝน ให้แม่นยำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการคำนวณหาค่าโมเมนตัมได้อย่างแม่นยำ ดังที่ได้ยกตัวอย่างมาแล้ว ข้างต้น
2) ส่วนเลเยอร์ถัดมาเรียกว่า Electromagnetic Calorimeter ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นเหล็กแสตนเลสและแผ่นตะกั่ว บางๆ รูปทรงเหมือนเครื่องดนตรีอัคคอร์เดียน วางซ้อนทับกัน ระหว่างแผ่นจะแทรกไปด้วยอาร์กอนเหลว
เลเยอร์นี้มีหน้าที่หลักคือ ทำหน้าที่วัดพลังงานอนุภาคที่ทำอันตรกิริยาแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic interaction) โดยแผ่นเหล็กแสตนเลสและแผ่นตะกั่วจะทำปฏิกิริยาไอออไนเซชั่นกับอนุภาคที่ วิ่งเข้ามาจาก LHC ก่อให้เกิดอิเล็กตรอนอิสระที่จะลอยตัว (drift) ไปทำอันตรกิริยากับอาร์กอนเหลว ก่อให้เกิดอิเล็กตรอนทุติยภูมิ (secondary ionized electron) อีกครั้งหนึ่ง ที่จะลอยตัวไปยังแผงวงจรทองแดงที่เชื่อมต่อกับระบบบันทึกผล ที่จะแปลงปริมาณต่างๆ เป็นตัวเลขและบันทึกลงไปในคอมพิวเตอร์เพื่อให้นักฟิสิกส์นำไปศึกษาวิเคราะห์ ต่อไป
3) ถัดออกมาจาก Electromagnetic Calorimeter เป็นเลเยอร์ที่ชื่อว่า Hadronic Calorimeter ซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นเหล็กกล้าและวัสดุไวแสง (scintillating material) เรียงตัวซ้อนทับกัน
เลเยอร์นี้มีหน้าที่เดียวกันกับ Electromagnetic Calorimeter นั่นก็คือ วัดพลังงาน แต่ว่า เป็นพลังงานของอนุภาคที่ทำอันตรกิริยานิวเคลียร์แบบเข้ม (Strong interaction หรือ Hadronic interaction) เท่านั้น ซึ่งได้แก่ โปรตรอน นิวตรอน เมซอน
อนุภาคที่พวยพุ่งออกมาจาก LHC เมื่อผ่านเข้ามาในชั้น Hadronic Calorimeter จะทำอันตรกิริยากับนิวเคลียสของอะตอมของแผ่นเหล็ก ก่อให้เกิดอนุภาคทุติยภูมิที่ไปทำอันตรกิริยากับวัสดุไวแสง ส่งผลให้เกิดอนุภาคของแสง ซึ่งก็คือ โฟตอน ที่จะวิ่งเข้าผ่าน สายใยนำแสง (fiber optics) ที่เชื่อมต่อกับระบบบันทึกผลของเครื่อง ATLAS เพื่อให้นักฟิสิกส์นำค่าที่ได้ไปศึกษาวิเคราะห์ต่อไป
ภาพแสดงหน้าจอแสดงผลในห้องควบคุม ATLAS
4) เลเยอร์สุดท้าย เป็นเลเยอร์ภายนอกสุดของเครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS มีชื่อว่า Muon Spectrometer ซึ่งมีโครงสร้างเป็นหลอดหลายพันหลอดเรียงตัวกัน ภายในหลอดจะบรรจุก๊าสเอาไว้ และตรงแกนกลางของหลอดจะเป็นสายไฟที่ต่อกับระบบบันทึกผล
เมื่อ มิวออนที่พุ่งออกมาจาก LHC ผ่านเข้ามาในเลเยอร์นี้ มันจะทำปฏิกิริยาไอออไนเซชั่นกับก๊าสภายในหลอด ก่อให้เกิดอิเล็กตรอนอิสระ ที่พร้อมจะเคลื่อนที่ไปยังสายไฟที่อยู่ตรงแกนกลางของหลอดที่มีศักย์เป็นบวก จำนวนและตำแหน่งของอิเล็กตรอนอิสระเหล่านี้จะขึ้นอยู่กับพลังงานและโมเมนตัม ของอนุภาคมิวออนที่ผ่านเข้ามา ช่วยให้นักฟิสิกส์สามารถวิเคราะห์ คำนวณ หาคุณสมบัติของอนุภาคชนิดใหม่ได้
มิวออนเป็นอนุภาคที่สำคัญที่สุดที่นักฟิสิกส์ที่ CERN คาดหวังไว้ว่า มันจะนำไปสู่การค้นพบครั้งสำคัญ
** สำหรับใครที่สนใจ สามารถเข้าไปดู animation แสดงการประกอบเป็นเครื่อง และการตรวจจับอนุภาคได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้
1. Animation แสดงส่วนประกอบต่างๆ ของ ATLAS
2. Animation แสดงการตรวจจับอนุภาคของ ATLAS
มาถึงตรงนี้ เราพร้อมที่จะรู้แล้วว่า นักฟิสิกส์จะสามารถมองย้อนเวลา ไปสู่ห้วงเศษเสี้ยววินาทีที่ใกล้เคียงกับจุดกำเนิดของจักรวาล เพื่อศึกษาองค์ประกอบพื้นฐานและวัดคุณสมบัติต่างๆ ของมัน ด้วยเครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS ได้อย่างไร
สมมติว่าที่สภาวะการทดลองของ LHC ซึ่งเป็นสภาวะในห้วงเสี้ยววินาทีหลังจากการเกิด Big Bang อนุภาคฮิกส์ ซึ่งเป็นอนุภาคที่นักฟิสิกส์เชื่อว่า เป็นตัวก่อให้เกิดกระบวนการของการได้มาซึ่ง “มวล” ของอนุภาคตัวอื่นๆ ได้ปรากฏตัวให้เห็น จริง
ด้วยทฤษฎีทางฟิสิกส์อนุภาค นักฟิสิกส์ที่ CERN ได้คำนวณไว้ว่า หนึ่งในหลายช่องทาง ฮิกส์จะสลายตัวให้ อนุภาค Z โบซอนสองตัวโดยตัวหนึ่งอยู่ในสภาวะกระตุ้น และจากนั้น อนุภาค Z ทั้งสองตัวนั้น จะสลายตัวให้อนุภาค อิเล็กตรอนและโพซิตรอน อย่างละ 2 ตัว เขียนเป็นสัญลักษณ์ได้ตามข้างล่างนี้
อิเล็กตรอน (e-) และโพซิตรอน (e+) ที่เป็นผลผลิตสุดท้าย จะถูกตรวจจับด้วย ATLAS ค่าพลังงานจะถูกวัดได้ด้วย Electromagnetic Calorimeter และ โมเมนตัมก็วัดได้จาก Inner Detector และคุณสมบัติต่างๆ ก็จะถูกบันทึกไว้ด้วย ATLAS
อาศัยปริมาณทางฟิสิกส์เหล่านี้ นักฟิสิกส์จะสามารถนำมาคำนวณกลับไปหา พลังงาน โมเมนตัม และคุณสมบัติต่างๆ ของอนุภาคฮิกส์ได้ และช่วยให้พวกเขาสามารถไขกุญแจปริศนาอีกบทหนึ่งของการก่อ กำเนิดจักรวาล
ภาพแสดง CG จำลองการเกิดอนุภาคฮิกส์ที่เครื่องตรวจจับอนุภาค ATLAS
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่า ที่สภาวะพลังงานของ LHC อนุภาค supersymmetry ที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายต้องสงสัยว่า จะเป็นองค์ประกอบของสสารมืด (dark matter) ปรากฏตัวให้เห็นตามที่คาดไว้จริง
นักฟิสิกส์ที่ CERN ได้คำนวณไว้ว่า หนึ่งในหลายวิถีทางที่เป็นไปได้ มันจะสลายตัวให้อนุภาคอิเล็กตรอนหรือมิวออนในผลผลิตสุดท้าย ซึ่งเขียนได้เป็นสัญลักษณ์
ด้วยวิธีการลักษณะเดียวกัน เมื่อนักฟิสิกส์รู้ค่า พลังงาน และโมเมนตัม และ ค่าต่างๆ ทางกายภาพของอิเล็กตรอนกับโพซิตรอนแล้ว พวกเขาก็จะสามารถคำนวณกลับไปได้ เพื่อหาคุณสมบัติต่างๆ ของ อนุภาค supersymmetry ซึ่งอาจจะส่งผลไปถึงการไขปริศนาของ dark matter และการขยายตัวด้วยอัตราเร่งของจักรวาลได้อีกด้วย
ภาพแสดง Feynman's Diagram ของการเกิดอนุภาค supersymmetry ที่ LHC
หรือไม่ว่าจะเป็น mini black holes ที่หลายๆคนหวาดระแวงกัน ถ้ามันปรากฎตัวให้เห็นจริงที่เครื่อง LHC (ซึ่งมีโอกาสน้อยมากๆ ) มันจะคงสภาพอยู่ได้เพียงเศษเสี้ยววินาที ( ห้วงเวลาน้อยมากๆ ในระดับ วินาที ไม่นานพอ ที่จะดูดกลืนโลกของเราไปได้หรอกครับ) ก่อนจะสลายตัวด้วยกระบวนการ Hawing Radiation ให้อนุภาคอิเล็กตรอน โฟตอน มิวออน หรือ ควาร์ก ที่ ATLAS สามารถตรวจวัดและทำการบันทึกเพื่อใช้ในการศึกษาได้ เช่นเดียวกัน (อ้างอิงจาก The Case of Mini Black Holes)
ภาพจำลองการเกิด mini black hole ที่ ATLAS
นักฟิสิกส์ได้คาดหวังไว้ว่า ปรากฏการณ์ต่างที่เกิดขึ้นที่เครื่อง LHC จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงข้อพิสูจน์ ของทฤษฎีหลายทฤษฎีทางฟิสิกส์ ที่กว่า 30-40 ปีที่ผ่านมา ได้เพียงแต่ล่องลอยอยู่ในจินตนาการหรือละอองหมึกที่พ่นจากเครื่องปริ๊นเตอร์ ลงบนกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีการได้มาซึ่ง "มวล" ของอนุภาคหรือ Higgs mechanism, ทฤษฎีสมมาตรยิ่งยวด (Supersymmetry), หรือ การไขปัญหาของความไม่สมดุลของสสารและปฏิสสารในจักรวาล หรือ ทฤษฎีการมีมิติเสริม (Extra Dimensions) นอกจากนี้ ผลการทดลองที่จะออกมา จะเป็นตัวบ่งชี้ ถึงทิศทาง แนวทาง และกรอบ ในการค้นคว้าวิจัย ของนักฟิสิกส์ในสาขานี้ในอีก สิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าเลยทีเดียว
การทดลองของ LHC ถ้าหากประสบความสำเร็จ จะเป็นการก้าวข้ามกรอบของความไม่รู้อีกครั้งและจะบอกนักฟิสิกส์ในสาขานี้ ว่า สิ่งที่พวกเขาได้คิด ถกเถียง ตีพิมพ์กันมาหลายสิบปีที่ผ่านมา ถูกหรือผิดอย่างไร และที่แท้จริงแล้ว ธรรมชาติ นั้นได้เป็นอย่างที่พวกเขาคิดกันหรือไม่ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ LHC จะเป็นตัวบ่งบอก
หลายคนคงมีคำถามยอดฮิต ว่า ผลที่ได้จากการค้นคว้าวิจัยของเครื่อง LHC จะนำมาประยุกต์ทำอะไรได้ สามารถนำมาปรับปรุงคุณภาพชีวิต รักษาสิ่งแวดล้อม ในแง่ไหน อย่างไร ในช่วงเวลาที่ โลกของเรากำลังเผชิญปัญหาโลกร้อน อากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรง ทรัพยากรพลังงานและทรัพยากรน้ำก็กำลังจะเข้าสู่สภาวะวิกฤติ ทำไมเราไม่เอามันสมองและสติปัญญา ของนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย มาช่วยแก้ปัญหาพวกนี้ไม่ดีกว่าหรือ
คนที่ถาม คำถามเหล่านี้ อย่าลืมว่า อิเล็กตรอน ไม่ได้ถูกค้นพบ เพราะ J.J. Thompson มีการวางแผนไว้ล่วงหน้าว่าจะนำความรู้ที่ได้ไปสร้าง iPod หรือโทรทัศน์ หรือทฤษฎีที่ใช้อธิบายพฤติกรรมเชิงควอนตัมของแสง ก็ไม่ได้ถูกสร้างขึ้น เพราะ Einstein คิดไว้ก่อนว่าจะไปทำแสงเลเซอร์หรือสร้างเครื่องเล่นดีวีดี หรือ ไม่ว่าจะเป็น World Wide Web ก็ไม่ได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นมา เพราะ Tim Berners-Lee ต้องการสร้างระบบขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตหรือต้องการสร้างระบบจองตั๋ว เครื่องบินออนไลน์
หากแต่ องค์ความรู้และนวัตกรรม ที่ได้จากงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ ที่มุ่งตอบคำถามเชิงปรัชญาทางธรรมชาติในขึ้นพื้นฐานที่สุด บ่อยครั้ง จะมาเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ และนำไปประยุกต์ใช้ในด้านต่างๆ อย่างที่ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ และคุณค่าเพิ่มที่ได้จาก ความรู้และนวัตกรรมที่เป็นผลิตผลของงานวิจัยด้านนี้ หลายอย่าง มีคุณค่าที่ไม่สามารถประเมินออกมาเป็นตัวเลขได้เลย ( ยกตัวอย่าง World Wide Web ที่ มูลค่าเพิ่มทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การแพทย์และการศึกษา ที่ได้จากนวัตกรรมชิ้นนี้ ประเมินค่าออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้เลย หรือว่ามีนักเศรษฐศาสตร์คนไหน สามารถคิดออกมาเป็นตัวเลขได้ จะช่วยชี้แนะ จักขอบคุณมากครับ) และ ถ้าหากมีคนคิดออกมาว่า จะสร้างโทรศัพท์มือถือ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสาร โดยไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับ อิเล็กตรอนเลยว่า มีประจุเท่าไร มวลเท่าไร มีสปินรอบตัวเองอย่างไร คงไม่มีทาง จะเราจะได้โทรศัพท์มือถือ มาอำนวยความสะดวกสบายกับเราอย่างทุกวันนี้
มันจึงไม่แน่เลยว่า การทดลองที่ LHC จะก่อให้เกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือว่า เราอาจจะได้แหล่งพลังงานชนิดใหม่ ที่ไม่มีใครสามารถคาดคิด คาดเดาได้ เลย
การลงทุนค้นคว้าวิจัยและพัฒนาบุคลากรในด้านนี้ จึงเป็นการลงทุนในระยะยาว เป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ที่จะเป็นรากฐานของเทคโนโลยี ในอนาคต สร้างทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ ที่มีความ สนใจ ใคร่รู้ ในธรรมชาติ มีความคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นระบบ มีทักษะในการทำงานร่วมมือวิจัย กับนานาชาติ พร้อมร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ในการเผชิญปัญหาในอนาคต ที่นับวันจะท้าทายและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากเมืองไทยจะได้ รากฐานที่แข็งแกร่งของเทคโนโลยีที่ตั้งอยู่บนฐานขององค์ความรู้ทางวิทยา ศาสตร์แล้ว บุคลากรที่เป็นผลผลิตจากงานวิจัยด้านนี้ ก็จะเข้าไปผสานอยู่ในสังคม วัฒนธรรมและความคิดของคนไทย ที่จะช่วยให้คนไทยที่ นอกจากจะมีบุคลิกด้านความมีน้ำใจ โอบอ้อม อารีย์ เป็นที่ประทับใจของชาวโลกแล้ว อาจจะยังมีการวิวัฒน์ไปเป็นคนที่ สนใจ ใคร่รู้ ในธรรมชาติ มีความคิดวิเคราะห์ เป็นระบบ และพร้อมจะล้มเลิกความคิดเดิมและยอมรับความคิดใหม่ เมื่อมีผลการพิสูจน์ มีข้อเท็จจริงสนับสนุน (evidence based) แน่ชัด หาใช่ตัดสินใจ ใตร่ตรองกันบนพื้นฐานของอารมณ์ ความรู้สึก ความเกรงใจเป็นส่วนใหญ่ โดยไม่ได้ตั้งอยู่บนรากฐานของข้อเท็จจริงหรือองค์ความรู้ที่มากจากการศึกษา อย่างเป็นระบบแต่อย่างใด
** ในงานวิจัยสาขานี้ มวล กับ พลังงาน ของอนุภาค มีหน่วยเดียวกัน เพราะนักฟิสิกส์ได้ให้ค่าความเร็วแสง c = 1 เพื่อความสะดวก ไม่ต้องเขียนค่า c เอาไว้ทุกสมการ และจากความสัมพันธ์ของมวลกับพลังงานของไอน์สไตน์ E = mc2 จะได้ว่า E = m)
ภาพจาก:
- ATLAS Photos
อ้างอิง:
- ATLAS Proposal and Technical Design Report
- ATLAS Notes
- ATLAS Scientific Notes
- The Case of Mini Black Holes, Aurélien Barrau and Julien Grain
- Black Holes in Theories with Large Extra Dimensions: a Review, Panagiota Kanti
- The end of the world at Large Hadron Collider, Michael E. Peskin
วิชาการ.คอม