CBOX เสรีชน

12 กันยายน, 2552

ชนชั้นกลางกับปรากฏการณ์เสื้อแดง

คอลัมน์ มองซ้ายมองขวา

โดย อภิชาต สถิตนิรามัย apichat@econ.tu.ac.th





"บัด นี้เรากำลังเผชิญกับความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับล่างในชนบท (และในเมืองด้วย) และความตื่นตัวทางการเมืองของคนชั้นกลางระดับกลางขึ้นไปในเขตเมือง ทั้งสองฝ่ายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬาร และทั้งสองฝ่ายต่างมีสำนึกถึงความจำเป็นในวิถีชีวิตที่จะต้องเข้ามามีส่วน ร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ...ตราบเท่าที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่สามารถบรรลุ ระบบการเมือง ที่เปิดให้การมีส่วนร่วมของตนเป็นไปได้ในระดับที่ต่างฝ่ายต่างพอใจ (แม้อาจไม่เท่าเทียมกัน) การเมืองไทยก็จะเต็มไปด้วยความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกอย่างที่เราเผชิญอยู่ เวลานี้"

ข้อความข้างต้นคัดมาจากบทความสี่ตอนจบของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ชื่อ "การปรับระบบการเมือง" ซึ่งพิมพ์ในมติชนรายวัน เมื่อประมาณกลางเดือนกันยายน 2551 โดยสรุปนั้น นิธิเห็นว่า วิกฤตการเมืองในรอบหลายปีมานี้ ไม่อาจเข้าใจได้ว่ามันแค่เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม (เช่น ทักษิณ VS ชนชั้นนำตามประเพณี) แต่เป็นบทสะท้อนของความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการเมืองในรอบหลายสิบปีที่ ผ่านมา มันเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นกลางระดับล่างทั้งในเมืองและชนบท (ส่วนใหญ่มวลชนเสื้อแดง ?) กับชนชั้นกลางเก่าในเขตเมือง (ส่วนใหญ่ของเสื้อเหลือง ?)

นิธิเชื่อว่าชนชั้นกลางระดับล่างคือคน จำนวนมากที่สุดของสังคมเราในปัจจุบัน ไม่ใช่คนจนดักดานเช่นในอดีตอีกต่อไป คนชั้นกลางระดับล่างก็คือคนที่ใช้จ่ายวันละ 68-136 บาทขึ้นไป ในขณะที่คนจนคือคนที่มีรายได้ต่ำกว่าวันละ 34 บาท คนชั้นกลางระดับล่างก็คือคนที่ซื้องานให้ตนเองด้วยการลงทุนเป็นนักธุรกิจราย ย่อย เช่น รับทำผมแต่งหน้า ขายของชำ ขายก๋วยเตี๋ยว เข้าเมืองเป็นซาเล้ง ขายลอตเตอรี่ ทำรถกับข้าวตามซอย ฯลฯ ส่วนใหญ่มีรายได้จากงานจ้างและธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งมีรายได้มากกว่าคนจน แต่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจเกี่ยวโยงกันกับนโยบายของรัฐบาล มากกว่าการพึ่งพาธรรมชาติและความสัมพันธ์ที่ดีทางสังคมอย่างที่เคยเป็น

หาก สมมุติฐานที่นิธิเสนอว่า คนชั้นกลางระดับล่างเป็นคนส่วนข้างมากเป็นจริงแล้ว ก็แสดงว่าผู้คนส่วนใหญ่ในชนบทไม่ได้เป็น "ชาวนา-ชาวไร่" ผู้ยากจน หรือเป็น "ชาวบ้าน" ใน "หมู่บ้าน" อีกต่อไปแล้ว ซึ่งแปลว่าความเข้าใจของ "คนชั้นกลางเก่า" ต่อภาพในชนบทนั้นห่างไกลจากความเป็นจริงยิ่งนัก หรือพูดอีกแบบคือ วิถีชีวิตที่ผูกพันกับการเกษตรทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคม ไม่ใช่วิถีชีวิตหลักในชนบทอีกต่อไป ภาพสะท้อนถัดมาก็คือชุมชนชนบทจะไม่เป็นไปตามชุมชนในจินตกรรมของชนชั้นกลาง เก่าแบบโหยหาอดีต ที่วาดภาพของชุมชนชนบทว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง พอเพียง ช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจ สงบสันติ อีกต่อไป แม้ว่าภาพหมู่บ้านงดงาม เงียบสงบริมท้องทุ่ง จะยังคงปรากฏในเชิงกายภาพอยู่บ้างก็ตาม แต่ในไส้ในแล้ว ภาพในจินตกรรมนี้กลับไม่มีอยู่จริง เช่นเดียวกับความเชื่อ หรือการถูกทำให้เชื่อของชนชั้นกลางเก่าที่วาดภาพด้านลบของ "ชาวบ้าน" ว่า โง่ ขาดการศึกษา ขาดข้อมูล ยากจน จึงถูกซื้อได้ง่ายๆ ด้วยเศษเงินซื้อเสียงของนักการเมืองชั่วๆ โดยไม่รู้หรือไม่สนใจว่านักการเมืองจะโกงกิน หรือทำร้ายประเทศอย่างไรบ้าง ภายหลังจากการได้รับเลือกตั้ง ดังนั้น "การเมืองใหม่" จึงต้องเป็นการเมืองแบบ 70/30 เพราะชาวบ้านโง่เกินไปที่จะรู้ทันนักการเมืองชั่วๆ ทั้งหลาย

บท ความเกี่ยวกับภาคเกษตรกรรมสองบทของอัมมาร สยามวาลา ซึ่งเขียนในปี 2539 และ 2542 ให้ภาพที่ไม่ขัดแย้งกับสมมุติฐานของนิธิ โดยในบทความแรกเสนอว่า เราอาจแบ่งเกษตรกรออกได้เป็นสองแบบคือ หนึ่ง เป็นเกษตรกร "สมัครเล่น" ซึ่งมักจะเป็นคนมีอายุ ใช้วิธีการเกษตรแบบเก่า ซึ่งไม่ใช่เป็นเพราะว่าเขาเป็นคนโง่หรือล้าหลัง แต่เป็นเพราะแหล่งผลประโยชน์หลักของเขาอยู่นอกภาคเกษตร หรืออาจเป็นเพราะเขาแก่เกินไปกว่าที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตที่ตนคุ้นเคย "มือสมัครเล่น" เหล่านี้จึงอยู่ได้ด้วยเงินที่ส่งมาจุนเจือครอบครัวของลูกหลานที่ทำงานถาวร นอกภาคเกษตร และอัมมารคาดว่าเกษตรกรแบบนี้จะหมดความสำคัญไปในหนึ่งชั่วคน (บัดนี้บทความชิ้นนี้มีอายุ 13 ปีแล้ว) ส่วนเกษตรแบบที่สอง ก็คือพวก "มืออาชีพ" ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ใช้เทคนิคและทักษะสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคนิคการเกษตรที่ประหยัดแรงงาน และจะเป็นกลุ่มที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เข้าแทนที่พวกมือสมัครเล่น

บท ความที่สอง ซึ่งอัมมารพยายามวาดภาพการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรในช่วงก่อนวิกฤต เศรษฐกิจ 2540 เขาเสนอว่าปี 2533 เป็นครั้งแรกที่จำนวนแรงงานในภาคเกษตรลดลง และลดลงถึง 16.1% ในช่วงปี 2533-2539 หากดูลงไปในกลุ่มอายุจะพบว่า ช่วงอายุของแรงงานเกษตรที่ลดลงมากที่สุด คือกลุ่มอายุ 15-35 ปี ซึ่งลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่งในช่วงปี 2535-2539 ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแรงงานรุ่นเยาว์จำนวนมากที่ออกจากภาคเกษตรนี้ ผันตัวเองไปเป็นนักเรียน นักศึกษา และจะกลายไปเป็นแรงงานนอกภาคเกษตรอย่างถาวรต่อไป กำลังแรงงานที่ลดลงนี้ทำให้ค่าจ้างภาคเกษตรสูงขึ้น แต่ก็ยังสูงไม่เพียงพอที่จะดึงคนกลับเข้าภาคเกษตร ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน เกษตรกรจึงหันไปใช้เครื่องจักรการเกษตรทดแทนแรงงานมากขึ้น และมีแนวโน้มว่าขนาดของไร่นาโดยเฉลี่ยในอนาคตจะใหญ่ขึ้น เนื่องจากคนรุ่นหนุ่มไม่กลับเข้าสู่ภาคเกษตร ซึ่งก็เป็นภาพที่สอดคล้องกับการแตกตัวเป็นเกษตรกร "มืออาชีพ" ข้างต้น

ตัว เลขที่มีนัยมหาศาลจากบทความนี้คือ ครอบครัวในชนบทที่มีสัดส่วนของรายได้จากภาคเกษตรมากกว่า 50% ลดลงจาก 44.4% เหลือ 29.1% ของครอบครัวชนบททั้งหมด ในช่วงปี 2533-2537 ซึ่งเป็นการลดลงที่รวดเร็วมาก เมื่อเทียบกับการลดลงจาก 59.9% ในปี 2518 เหลือ 44.4% ในปี 2533 กล่าวคือการลดลงประมาณร้อยละ 15 ในช่วงก่อนใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ใช้เวลาเพียง 5 ปีในช่วงหลังเท่านั้น อย่าลืมว่าตัวเลข 29.1% หรือไม่ถึงหนึ่งในสามของครอบครัวชนบทนี้ เป็นตัวเลขในปี 2537 ตัวเลขนี้ย่อมต้องน้อยลงไปอีกมากในปัจจุบัน

หาก เราดูข้อมูลจุลภาคของหมู่บ้านสองแห่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาที่อยู่ใกล้ กับนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งแน่นอนว่าอาจจะไม่ใช่ภาพตัวแทนของหมู่บ้านชนบททั้งหมดของไทย แต่เป็นตัวแทนที่ดีของการเปลี่ยนผ่านของสังคมชนบท เมื่อชุมชนชนบทปะทะประสานเข้ากับสังคมอุตสาหกรรม เราพบว่าวิถีชีวิตของสองชุมชนนี้มิใช่สังคมเกษตรกรรมอีกต่อไป ดูได้จากตัวเลขที่ระบุว่า 98% และเกือบ 100% ของประชากรในสองหมู่บ้านนี้ ถ้าไม่เป็นนักเรียนก็มีอาชีพนอกภาคเกษตร (ดูกราฟฟิก)

ดังนั้นครอบ ครัวชนบทมากกว่าสองในสาม และสองชุมชนในอยุธยานี้ จึงไม่สามารถเป็นภาพแทนตนของ "หมู่บ้าน" ในจินตกรรมที่มีวิถีชีวิตบนฐานเกษตรกรรม ตามที่ชนชั้นกลางเก่าเข้าใจได้อีกต่อไป หรือหากเป็นครอบครัวเกษตรกรรมก็จะเป็นเกษตรกร "มืออาชีพ" ที่ไม่ใช้เศรษฐกิจ "พอเพียง" อีกเช่นกัน ดังนั้นคนส่วนใหญ่ในชนบทจึงมีวิถีชีวิตที่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของ เศรษฐกิจแบบทุนนิยมและนโยบายของรัฐบาล ในแบบที่ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของชนชั้นกลางเก่าในเมืองเลย แต่ชนชั้นกลางเก่ากลับมองว่า "พี่น้องในชนบทยากจนไร้การศึกษา จึงสมควรแก่นโยบายสาธารณะประเภทสาธารณกุศล คือช่วยเขาหรือช่วยเขาเพื่อให้เขาช่วยตัวเองได้ แต่การที่จะให้คนในชนบทลุกขึ้นมาใช้สิทธิทางการเมือง เพื่อร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยนั้น อยู่นอกเหนือมโนภาพของคนชั้นกลางในเขตเมือง"

ตราบใดที่ชนชั้นกลาง เก่าและสื่อมวลชนของเขา (สื่อกระแสหลักเกือบทั้งหมดในปัจจุบัน) ยังคงปิดตา ปิดหู ไม่ยอมเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดพลังสังคมกลุ่มใหม่ขึ้นแล้ว ตราบนั้นเขาจะไม่เข้าใจ "ปรากฏการณ์เสื้อแดง" และจะตกอยู่ในกับดักของการอธิบายความขัดแย้งทางการเมืองว่าเป็นความขัดแย้ง ส่วนบุคคลในหมู่ชนชั้นนำเท่านั้น ซึ่งจะไม่ช่วยให้สังคมเราสามารถหาทางออกจากวิกฤตการเมืองได้