ประชาทรรศน์
23 ม.ค. 2009
หลังการเสนอไอเดียที่แสนจะล้าหลัง ในฐานะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่กำกับดูแลสื่อฯ ของ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ที่จะใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงจัดการกับวิทยุชุมชนที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล ทำให้องค์กรสื่อ นักวิชาการออกมา “อัด” กันทั่วบ้านทั่วเมือง จนทำให้ออกอาการ “เสียงอ่อย” ว่าไม่ได้ตั้งใจทำเช่นนั้น
ล่าสุดผุดไอเดีย จะจัดการกับ NBT ซึ่งย่อมาจาก (National Broadcasting Television) ว่าจะเปลี่ยนโครงสร้างโดยหันกลับไปเป็นช่อง 11 ตามเดิม และเปลี่ยนโลโก้ NBT กระทั่งสั่งให้มีรายการถ่ายทอดสดกระทู้ถาม-ตอบของรัฐสภา
เรื่องการปรับ และเปลี่ยนโลโก้ NBT กลายเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความครื้นเครงของคนวงในอีกครั้ง
ดูเหมือนว่า ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ขาดองค์ความรู้ ที่มาที่ไปเกี่ยวกับองค์กรที่ตัวเองบอกว่าจะเข้าไปรื้อสร้างปรับเปลี่ยน อย่างเห็นได้ชัด
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
เพราะแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเปิดเผยว่า โลโก้ NBT ไม่ได้เพิ่งถูกนำมาใช้หรือเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นใหม่จากรัฐบาลเดิมที่ผ่านมา ตามที่เจ้าตัวเข้าใจแต่อย่างใด
สืบสาวราวเรื่องได้ว่า ไอเดียของการกำเนิด เกิดขึ้นของ NBT นั้น เกิดจากผู้ใหญ่ในกรมที่ต้องการปรับเปลี่ยนชื่อขององค์กรนี้มานานแล้ว
เหตุผลในการปรับเปลี่ยนชื่อ ก็คือ เพื่อให้สอดคล้องและเข้ายุคสมัยกับความเป็นไปของสื่อในยุคโลกาภิวัตน์
เพราะในนานาประเทศนั้น สำนักข่าว หรือ บรรดาองค์กรสื่อต่างๆ เขาไม่นิยมในการใช้ชื่อที่เป็นตัวเลขแบบ 7, 11, 5, 9, 3, 1 อย่างนั้น มานานแสนนานแล้ว
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนจากการบอกเล่าของผู้รู้ในเวทีการถ่ายทอดระดับโลก สื่อต่างประเทศต่างรู้จัก โลโก้ NBT ได้ดีกว่า โลโก้แบบปะตัวเลขเข้าไปของสื่ออื่นๆ
National Broadcasting Television หรือตัวย่อ NBT ไม่ใช่เป็นเพียงโลโก้ แต่เป็นชื่อเรียกแบบสากลที่นานาประเทศรู้จักกันว่า คือ ตัวแทนของสื่อประจำประเทศนั้นๆซึ่งไม่ได้หมายความอย่างแคบว่าเป็นสื่อของรัฐ แต่นี่คือสื่อที่เป็นตัวแทนของประเทศในประเทศที่มีประชาชนเป็นเจ้าของ
การกลับไปใช้ ชื่อ แบบกรมประชาสัมพันธ์นั่นแหละที่จะเป็นปัญหาเพราะสะท้อนให้เห็นว่า รัฐกำลังจะเข้ามาจัดการ “สื่อของประเทศ” ให้กลายเป็นเครื่องมือ โฆษณาชวนเชื่อ ประชาสัมพันธ์ให้กับรัฐนั่นเอง
หมดยุค หมดสมัยไปแล้ว สำหรับรัฐบาลที่จะส่งคนไม่มีกึ๋น หรือมีวิธีคิด วิธีทำงานแบบล้าหลัง ด้วยการเข้าควบคุม สั่งการบังคับให้ทำอะไรก็ตามที่รัฐเห็นว่าเป็นหน่วยงานของตน ต้องมารับใช้"ความต้องการ” หรือ”สนองตอบ” ความอยากของตนโดยไร้เหตุไร้ผลแถมยังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ตนอยาก จะเข้ามาจัดการ แถมยังมีข่าวแว่วๆมาอีกว่า อาจจะมีการปรับผังใหม่เพื่อปูนบำเหน็จให้กับบรรดาหมู่พวกของตนที่เคลื่อนไหว ในนามของพันธมิตรฯ ที่จะเข้ามาจัดสรรผลประโยชน์หากินกับองค์กรนี้กันอย่างถ้วนหน้า จริงเท็จ อย่างไรคงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
แต่การเปลี่ยน NBT กลับไปเป็นช่อง 11 ที่เรียกว่า เป็นแผนของการปฏิรูปสื่อนั้น ดูแล้วไม่เห็นว่าจะมีอะไร”ใหม่” หรือ “สร้างสรรค์ “แต่อย่างใด
การใช้ข้ออ้างว่าเป็น”การปฏิรูปสื่อ” แท้จริงแล้ว คือ การใช้อำนาจเข้าไปควบคุม สั่งการ แทรกแซงเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของตัวเองใช่หรือไม่?
พฤติกรรมเช่นนี้ ไม่ต่างกับสำนวนที่ว่า “ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง” เลย เพราะเมื่อครั้งที่พวกตนเป็นฝ่ายค้านก็หยิบ ยกประเด็น พฤติกรรมของอดีตรัฐบาลมาโจมตีว่า เข้าไปควบคุม แทรกแซง หาประโยชน์กับสื่อของรัฐ
ฉันใดก็ฉันนั้น !เงยหน้าถ่มน้ำลาย ก็กลับลงมารดหน้าตัวเอง
การปฏิรูปสื่อที่แท้จริง คือการยกระดับ”คุณภาพ” ของสื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน และต้องเปิดช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุด รวมทั้งต้องมีเนื้อหาที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่ใช่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน หรือเพื่อไปรับใช้อำนาจรัฐ
สื่อแห่งชาติอย่างNBT เจ้าของคือประชาชน รัฐบาลคือผู้ที่มาแล้วจากไปตามวาระเท่านั้น!
สิ่งที่ท่านรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี น่าจะกระทำก่อนที่จะปรับเปลี่ยนโลโก้ ปรับโครงสร้าง นั่นคือ ต้องเร่งดำเนินการเอาผิดกับกองโจรพันธมิตรที่บุกเข้าไปปล้น ใช้มีดจี้คอผู้ดำเนินรายการวิทยุ ข่มขู่คุกคามผู้ประกาศ โดยใช้กำลังและอาวุธปืน เพื่อฟื้นฟูและเยียวยาความเสียหาย เป็นขวัญและกำลังใจของคนในองค์กรเพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ สุด มิใช่หรือ
หลักการบริหารงานทั่วไป เพื่อพิสูจน์ถึงความรัก และความห่วงใยอย่างจริงใจในฐานะผู้ดูแลองค์กรขั้นพื้นฐาน.... แค่นี้คิดไม่ได้หรือ?
หรือถนัด แต่ ใช้สำนวนโวหารสร้างภาพ อ้างคำสวยหรู อย่าง “การปฏิรูปสื่อ” เพื่อปกปิดการใช้อำนาจควบคุม สั่งการ บังคับ ซ้ำรอยแบบเดิมที่เคยเป็นมา
เช่นนั้น น่าเสียดายภาษีของประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ที่ต้องจ่ายเป็นเงินเดือนให้แก่พวกท่านยิ่งนัก!