CBOX เสรีชน

29 ตุลาคม, 2552

เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์ 2

วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11523 มติชนรายวัน (ดึงข้อความมาจาก Sameskyboard.com)

เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์


โดย ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์


ก่อนเริ่มเรื่อง ผมขอทำความเข้าใจกับคุณๆ อันดับแรก ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ใช่คนตะกั่วป่า แม้ผมจะลงไปแถวนั้นบ่อยครั้ง แต่ผมไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่น ไม่เคยรับทราบความลำบากครั้งน้ำท่วม อันดับที่สอง การอ่านเรื่องนี้มีความเสี่ยง ผู้อ่านควรพิจารณาด้วยตัวเองก่อนปักใจเชื่อ เพราะผมคือผู้ร่ำเรียนเรื่องทะเลมาบ้าง แต่ผมไม่ใช่ทะเล หลายครั้งที่ผมบอกกับทะเลบอกไม่เหมือนกัน

ขอเริ่มเรื่องจากข้อมูลใน "มติชน" กล่าวถึงกรณีขุดทรายที่ปากแม่น้ำตะกั่วป่า จำนวน 21 ล้านคิวบิกเมตร โดยใช้เวลา 5 ปี โดยมีบริษัทแห่งหนึ่งรับอาสา อบต.บางนายสี ขุดให้ฟรีๆ โดยระบุว่า จะนำไปใช้ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านการอนุมัติของผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา มีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ตามระเบียบ ซึ่งกรมทรัพยากรธรณีระบุว่า หากทรายมีซิลิการ์ออกไซด์ไม่เกินร้อยละ 75 สามารถส่งออกนอกประเทศได้ โดยหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะเริ่มทำการขุดทรายประมาณเดือนธันวาคม (รายละเอียดที่ www.matichon.co.th)

ผมขอตั้งประเด็น เริ่มจากทำไมเขาถึงลงทุนขุดให้ฟรี? ผมพอทราบข่าว สิงคโปร์กำลังต้องการทรายจำนวนมาก เพื่อนำไปถมทะเลในการพัฒนาพื้นที่ จึงต้องนำเข้าทรายจากต่างประเทศ แต่ที่น่าสงสัย ทำไมเค้าต้องลงทุนมาขุดมาขนไปจากประเทศไทย ทำไมไม่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มีทะเลมีทรายมากกว่าบ้านเราไม่รู้กี่สิบเท่า แถมยังอยู่ติดกัน ค่าแรงก็ไม่ได้แตกต่าง ค่าขนส่งก็ถูกกว่าเพียบ แล้วทำไม?

คุณอาจได้คำตอบง่ายๆ ก็เพราะอินโดนีเซียไม่ยอมให้ขุด ตอบเช่นนี้ย่อมมีคำถามต่อ แล้วทำไมอินโดนีเซียถึงไม่ยอม ทั้งที่สมัยก่อน เขาก็เคยขายทรายให้สิงคโปร์มาพอควร แล้วมาบัดนี้ ทำไมจึงเลิกเสีย?

คำตอบอาจเป็นประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม อาจเป็นประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น สิงคโปร์กำลังต้องการขยายสนามบินเพื่อเป็นฮับของเอเชียในย่านนี้ อินโดนีเซียอาจกลัวว่าจะเป็นคู่แข่งมั้ง ไม่เหมือนบางประเทศที่ไม่กลัว เราสร้างได้ นายก็สร้างได้ เราแถมทรายให้นายมาสร้างแข่งกับเราด้วย

มาสู่ประเด็นที่สอง อะไรจะเกิดขึ้นเมื่อทรายหายไป? ผมไม่อาจยืนยันว่าสิ่งที่ผมจะเล่าต่อจากนี้ มันต้องเกิดแน่ เพราะทะเลยากแท้หยั่งถึง เอาเป็นว่า ผมคาดเดาจากสิ่งที่เรียนมาและจากประสบการณ์ก็แล้วกันครับ

ผมเคยพูดคุยกับเพื่อนผู้อยู่ตะกั่วป่า เค้าบอกว่า เดิมทีแม่น้ำลึกกว่านี้ แต่พอหลังสึนามิ ทรายมีมากขึ้น แม่น้ำตื้นเขินจนแทบจะเตะฟุตบอลกันได้แล้ว แต่เมื่อลองถามไปถามมา สึนามิอาจเป็นเหตุหนึ่ง แต่ก่อนหน้านั้น แม่น้ำก็เริ่มตื้นกว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน

นั่นคือบางสิ่งที่เราอาจเข้าใจผิด ไม่ใช่เฉพาะเพื่อนของผม แต่รวมถึงคุณๆ ในทุกภูมิภาค เราเข้าใจว่า ธรรมชาติต้องเหมือนเดิม แต่โลกเราเปลี่ยนไปทุกวัน โดยเฉพาะชายฝั่งทะเลที่มีกระบวนการต่างๆ เช่น ฤดูนี้สันทรายอยู่ตรงนี้ ฤดูนั้นสันทรายย้ายไปอยู่ตรงนั้น การตื้นเขินของแม่น้ำตะกั่วป่า อาจไม่เกี่ยวข้องจากการกระทำของมนุษย์ แต่เป็นเหตุที่ต้องเกิดตามธรรมชาติอยู่แล้ว ยิ่งถ้าพิจารณาจากเกาะทรายยักษ์สองแห่งที่อยู่ใกล้เคียง ได้แก่ เกาะคอเขาและเกาะพระทอง เดิมทีเคยเป็นสันทราย ขยายตัวจนกลายเป็นเกาะทรายใหญ่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย อีกหลายร้อยปีผ่านไป สองเกาะอาจเชื่อมต่อกัน หรือเชื่อมกับแผ่นดินจนกลายเป็นส่วนหนึ่งก็เป็นได้

ปัญหาคือเราเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ เราก่อสร้างสร้างฐาน ทำกิจกรรมนานัปการ เช่น สร้างบ้านสร้างรีสอร์ทบนเกาะคอเขา บางส่วนเราอาจเก็บรักษาไว้ เช่น เกาะพระทองเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีโครงการสำคัญหลายโครงการเข้าไปเกี่ยวข้อง

เมื่อเราขุดทรายจำนวนมากไปจากพื้นที่ คำถามคือจะมีอะไรเกิดขึ้น? ทดลองเองก็ได้ครับ คุณลองไปริมทะเลหรือริมแม่น้ำ เสร็จแล้วก็ขุดหลุมทรายในแอ่งน้ำตื้นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือทรายรอบด้านจะเริ่มไหลลงมาแทนที่ ยิ่งขุดยิ่งไหล จนทรายที่อยู่ห่างออกไปเริ่มยวบ หรือหากขี้เกียจทดลอง โทร.ถามเพื่อนๆ ผู้มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำ บริเวณที่มีการขุดทรายเยอะๆ เค้าคงตอบคุณได้

สิ่งที่ผมคาดไว้ คือทรายอื่นย่อมไหลลงมาแทนที่ทรายที่หายไป ทรายบางส่วนอาจมาจากทะเล แต่ทรายอีกบางส่วนอาจมาจากชายฝั่ง ทั้งเกาะทรายและหาดทรายหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียง จะกระทบถึงไหน ผมไม่อาจบอกได้ แต่เหตุที่เกิดขึ้นในทะเล ผลมักไม่เกิดเฉพาะตรงนั้น บางทีผลอาจไปไกลหลายโยชน์ ใครอยากเห็นตัวอย่าง ขอเชิญไปเที่ยวหาดแถวมาบตาพุด เรื่อยไปจนถึงหาดแสงจันทร์ ปากน้ำระยอง เขื่อนหินทรงประหลาดที่ยื่นไปอยู่ในทะเล เป็นคำตอบที่ชัดเจนเกินคำอธิบาย

ผมไม่ยืนยันจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ผมเพียงสงสัย หากเกิดขึ้นใครผู้ใดจะรับผิดชอบ? หากทรายเกิดหาย ชายฝั่งถูกกัดเซาะ ห่างออกจากจุดเกิดเหตุสิบยี่สิบกิโลเมตร ใครจะเป็นผู้ชดใช้ทะเล ชดใช้คนทำมาหากินกับทะเล ผมทราบจากข่าวว่า โครงการทำ EIA ผ่านการอนุมัติของท่านผู้ว่าฯ แต่ผมก็เคยเห็นโครงการที่ทำ EIA มาแล้วบางโครงการ เกิดปัญหาขึ้น ถึงตอนนั้น แล้วไงครับ? คำถามยังคงกลับมาที่เดิม ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ? ใครจะไปเป็นผู้บอกกับเต่าทะเลว่า ขอโทษจ้ะ หาดที่เธอวางไข่หายไปหมดแล้ว ใครจะเป็นผู้บอกกับคนทำรีสอร์ทว่า โทษทีฮะที่ทำสระน้ำคุณพี่ลงไปอยู่ในทะเล ใครจะเป็นผู้บอกลุงประมงพื้นบ้าน กุ้งหอยปูหายไปเพราะทรายมันหายจ้ะ ลุงอดทนหน่อยนะ สักวันมันก็คงกลับมาเอง ช่วงนี้ก็กินข้าวกับน้ำปลาไปพลางก่อน

ในทางกลับกัน หากเรามองในมุมของคนตะกั่วป่า ผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แน่นอนว่าพวกเขาพวกเธอมีปัญหา แต่การแก้ปัญหาโดยสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่ น่าลองทำไหมหนอ เรามีทางออกทางอื่นหรือไม่? ผมพอจะเข้าใจแนวคิดของท่านนายก อบต. เพราะมีปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ จะแก้ไขยังไงก็ไม่เป็นผล ด้วยงบประมาณและความช่วยเหลือจำกัด แล้วจะให้ทำอย่างไรล่ะเนี่ย?

ปัญหานี้จึงวนเวียนเหมือนงูกินหาง เป็นอะไรที่ผมคิดว่าอยู่เหนือกำลังของท้องถิ่น ถึงเวลาที่ภาครัฐส่วนกลางต้องเข้าไปช่วยเหลือ อย่าคิดว่าต้องใช้งบประมาณมากมาย ผมแอบกระซิบข้อมูลที่ผู้บริหารภาครัฐทราบอยู่แล้วอีกครั้งก็ได้ เฉพาะเงินที่สิงคโปร์เสนอให้อินโดนีเซีย เพื่อใช้ในการดูแลปัญหาผลกระทบจากการดูดทราย (ไม่ใช่ค่าทราย) เมื่อคิดจากปริมาณทราย 21 ล้านคิวบิกเมตร เป็นเงินตัวเลขสิบหลัก เน้นอีกหน เลขสิบหลัก หน่วยเป็นบาท ขนาดนั้นอินโดนีเซียยังเซย์โน แล้วถ้าเกิดปัญหาในทะเลพังงา แหล่งท่องเที่ยวเอย อุทยานแห่งชาติเอย เขตความหลากหลายชีวภาพเอย เผลอๆ ยังเกี่ยวกับการเสนออันดามันเป็นมรดกโลก ตัวเลขสิบหลัก...จะใช้แก้ปัญหาไหวไหมหนอ

บทสรุปสุดท้าย ในเมื่อคนท้องถิ่นสนับสนุน สิงคโปร์แฮปปี้ รัฐบาลไทยไม่รู้ไม่ชี้ แล้วข้าพเจ้าจะไปหาเรื่องใส่ตัวทำไมวุ้ย สู้สอนหนังสือ ทำวิจัยส่งผลงานไปตีพิมพ์วารสารวิชาการต่างประเทศ ยิ่งตอนนี้เค้ามีงบฯไทยเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยวิจัยยิ่งดีใหญ่ หรือไม่ก็เขียนหนังสือเรื่องท่องเที่ยว ไปทำ CSR เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องโลกร้อน ไปพูดให้คนอื่นฟัง ได้ตังค์ทั้งนั้น

ปัญหาคือผมระลึกคำพูดสุดท้ายที่ ดร.สุรพล สุดารา ครูของผมสั่งเสียไว้ "ธรณ์ต้องไม่เงียบ" หากไม่ทราบไม่เป็นไร แต่ทราบแล้วมีหนทางบอกต่อแล้ว...ไม่บอก ผมทำไม่ได้ จึงต้องขออภัยหากสร้างความเดือดร้อนหรือขุ่นเคืองใจให้ผู้อื่น

เพราะผมดันลืมไม่ได้ว่า ครั้งหนึ่งผมเคยมีคุณครูครับ

หน้า 8

http://www.matichon....&day=2009-09-27

เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์ 1

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11551 มติชนรายวัน

เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์

โดย สมชาย เจียมธีรสกุล somchai_jeam@hotmail.com


ผมได้อ่านบทความของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เรื่อง เมื่อทรายไทยจะไปสิงคโปร์ จากมติชน ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 กันยายน ที่ได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องความเสียหายจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา อย่างมหาศาลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด ผมเห็นด้วยกับ ดร.ธรณ์ อย่างไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ยังมีอีกความเห็นหนึ่งที่จะขอนำเสนอ

อันที่จริงหลังจากข่าวของมติชน ฉบับวันพฤหัสดีที่ 17 กันยายน เรื่องที่ "เอ็นจีโอ" ขอให้รัฐบาลตรวจสอบเรื่องการขออนุญาตขนทรายตะกั่วป่าออกนอกประเทศ ผมรู้สึกไม่ถูกต้องขึ้นมาทันที และได้เตรียมที่จะเขียนแสดงความเห็นคัดค้านด้วยเช่นกัน เพราะผมเห็นว่าเรื่องนี้คนไทยจะเสียรู้สิงคโปร์อีกแล้ว และเป็นการเสียรู้ระดับโลก (จากความเห็นของผม)

ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่รู้ไส้รู้พุงประเทศไทยทุกขดอย่างลึกซึ้ง รู้ว่าปัจจุบันจะใช้ช่องทางใดในการที่จะขโมยเอาทรัพยากรธรรมชาติของไทยไปและ ซ้ำยังอ้างบุญคุณที่มาขุดลอกให้ฟรี จึงเริ่มใช้ช่องทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เนื่องจากทราบดีว่าปัจจุบันประเทศไทยได้มีการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนท้องถิ่น ให้อนุมัติโครงการต่างๆ ได้ แต่ผมขอพูดความจริงเล็กน้อยในเรื่องการให้อำนาจแก่ท้องถิ่นนั้นเป็นสิ่งที่ ดี แต่ก็ต้องให้ความรู้เข้าไปด้วย เนื่องจากผมอยู่ในวงการก่อสร้างจึงทราบว่าการขออนุญาติก่อสร้างถ้ามีการขอ ผ่าน อบต. เพราะ อบต.ไม่มีความรู้เพียงพอในเรื่องที่มีการควบคุม แต่ต้องการให้มีการก่อสร้างเพื่อได้ผลประโยชน์ ดังนั้น การก่อสร้างโรงงานใดถ้าต้องการให้ได้ดั่งใจ ก็ต้องพยายามไปขออนุญาตในเขต อบต. ยังไงก็ได้สร้างแน่นอน

เมื่อสิงคโปร์ทราบวิธีการนี้ จึงไม่แปลกที่เริ่มจากส่วนท้องถิ่น ด้วยการเสนอความเป็นนักบุญ

อันที่จริงปัญหาน้ำท่วมที่ชาวตะกั่วป่ารู้สึกว่ารุนแรงขึ้นนั้น ก็เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรด้านโยธา และสิ่งแวดล้อม ก็เชื่อว่าถ้าได้มีการศึกษาและวางแผนอย่างถูกต้องก็จะมีทางแก้ปัญหาได้อย่าง ยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยการขุดลอกทรายจำนวนมหาศาลออกไป

ในมุมมองของผมยังมีอีกด้านที่ผมคิดว่ามีค่ามากกว่าการที่จะเอาไปถมทะเล ผมถึงบอกว่างานนี้อาจจะเป็นการต้มตุ๋น และเสียรู้ระดับโลกของประเทศไทยได้

ขอเริ่มจากประเทศไทยมีกฎหมาย เรื่องการที่ห้ามนำทรายออกนอกราชอาณาจักร ตามข้อกำหนดของกรมทรัพยากรธรณีว่าจะต้องมีซิลิกาออกไซด์เป็นส่วนประกอบจำนวน ไม่เกิน 75.00% ของน้ำหนัก ทางสิงคโปร์ก็คงทราบข้อกำหนดนี้อย่างแน่นอน เพราะตามข่าวบอกว่าบริษัทได้เก็บตะกอนในพื้นที่บางส่วนไปส่งให้ห้องปฏิบัติ การทางวิทยาศาสตร์ ของกรมทรัพยากรธรณีตรวจสอบ ผลการตรวจสอบพบว่าตะกอนดังกล่าวมีซิลิกาออกไซด์ เป็นส่วนประกอบจำนวน 73.75% ซึ่งก็มีไม่ถึง 75.00% ลองคิดดู สิงคโปร์เป็นผู้ส่งตัวอย่างไปให้หน่วยงานวิทยาศาสตร์ไทยตรวจสอบ แล้วผลก็ผ่านตามกฎหมาย แล้วหน่วยงานของประเทศไทยก็จะใช้ข้ออ้างแบบศรีธนญชัยว่า อนุมัติได้ตามกฎหมาย

ผมลองจินตนาการอีกด้านหนึ่งดังนี้ สิงคโปร์ได้เข้ามาแอบเก็บตัวอย่างตะกอนดังกล่าว และพบว่าค่าซิลิกาออกไซด์ บริเวณดังกล่าวสูงมากคุ้มค่าแก่การลงทุน อาจมากกว่า 80.00% ด้วยซ้ำ และได้ศึกษากฎหมายไทยอย่างละเอียด และพบช่องโหว่ 75.00% ดังนั้น จึงพยายามเลือกเก็บตัวอย่างในบริเวณที่มีค่าเปอร์เซ็นต์น้อยกว่า 75.00% และทั้งที่พยายามอย่างมากให้มีเปอร์เซ็นต์น้อยแล้ว ก็ยังได้ค่าถึง 73.75% อย่างที่ผมบอก ผมเป็นวิศวกร ดังนั้น ค่าตัวเลขดังกล่าวถึงว่าไม่มีนัยยะแตกต่างทางสถิติแม้แต่น้อย ค่าเบี่ยงเบนต่ำมาก ค่าตัวเลขบอกให้ทราบว่า มีซิลิกาออกไซด์สูงมาก ไม่ใช่แค่บอกว่าน้อยกว่ากฎหมายกำหนด แล้วลองคิดดูสิงคโปร์ฉลาด หรือไทยโง่กันแน่

ผมได้คัดความรู้มาจาก http://gotoknow.org/...lchumphon/22209 ซึ่งเป็นการสรุปความสำคัญของซิลิกาดังนี้

จากพัฒนาการของคอมพิวเตอร์จนถึงกลางทศวรรษ 1960 ถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญยิ่งอันเนื่องมาจากการค้นพบและพัฒนาเทคโนโลยี Semi-Conductor จากพื้นฐานความรู้เรื่องตัวนำไฟฟ้า (Conductor) และฉนวน (Insulator) นักอิเล็กทรอนิกส์นำมาต่อยอดผลิตเป็นชิ้นงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากกมาย จนกระทั่งมีนักวิทยาศาสตร์พบว่า แร่ธาตุบางอย่างมีคุณสมบัติทางไฟฟ้าอยู่ตรงกลางระหว่างตัวนำและฉนวน เรียกเป็นภาษาวิชาการว่า "สารกึ่งตัวนำ" (Semi-Conductor) และแร่ธาตุประเภท Semi-Conductor ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมากในการนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในการนี้ก็คือ ธาตุซิลิคอน (Silicon) ซึ่งทำมาจากแร่ Silica ที่หาได้มากในเม็ดทรายด้อยค่านี้เอง ในยุคต่อมา Silicon จึงกลายเป็นส่วนประกอบหลักของการผลิตชิ้นส่วนสำคัญทางอิเล็กทรอนิกส์ ในเขตอุตสาหกรรมทางด้าน IT ของสหรัฐอเมริกาถึงกับเรียกตัวเองว่า "Silicon Valley" ทำให้หลายคนเข้าใจว่า คงจะเต็มไปด้วยการทำเหมืองแร่ซิลิคอน แท้ที่จริงแล้วเป็นกลุ่มบริษัททางด้าน IT ทั้งสิ้น ซิลิคอนเมื่อนำมาหลอมเหลวให้บริสุทธิ์ ผ่านแม่พิมพ์ออกมาเป็นแท่งทรงกระบอก จะเข้าสู่กระบวนการ "เฉือน" ให้เป็นแผ่นบางๆ เรียกว่า "Chip" ซึ่งหมายถึง แผ่นกลมๆ บางๆ ความหมายเดียวกับ แผ่นมันฝรั่งทอด (Potato Chip) ซิลิคอนชิป ซึ่งเป็นสารกึ่งตัวนำสามารถเพิ่มคุณสมบัติให้เป็นตัวนำไฟฟ้าที่สูงขึ้นได้ โดยการเจือสารเติมแต่งที่มีคุณสมบัติทางไฟฟ้า เช่น ฟอสฟอรัส ซึ่งมีประจุ - หรืออิเล็คตรอนมากกว่าซิลิคอน 1 ตัว เรียกว่า เป็นการ "เพิ่มหลัง"

ขอบคุณบทความที่ผมขอนำมาอ้างอิงครับ และขอให้ดูรูปจาก pcplus.techrada.com เรื่อง How Silicon Chips are made จากรูปคือการ converting sand to silicon ของ Intel ซึ่งเป็นกระบวนการขั้นแรกสุด คือการนำทรายจำนวนมหาศาลมาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นของการผลิต "Chip" คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อเป็นผลผลิตสุดท้ายแล้ว มูลค่ามหาศาลเพียงใด

ผมได้ลองหาราคาของ Silica จาก internet และพบว่าราคาของ SILICA, 5-15u, 60A, 1kg ($91.35) เป็น silica ที่สกัดแล้ว และถ้าทำให้บริสุทธิ์จนได้เป็น silica gel for chromatography with evaporate pressure สำหรับทำ chip ราคาจะเป็น SILICA, 5u, 60A, 100g ($388.50) คือจากราคา กก.ละ 91.35 เป็น 3,885.00 ดอลลาร์ หรือประมาณ 132,000 บาท/กก. ลองคำนวณดูน้ำหนักของตะกอนทราย 21 ล้าน ลบ.ม. (ทราย 1 ลบ.ม. จะหนักประมาณ 1,600 กก.) เป็น นน.ทั้งสิ้น 33,600 ล้านกิโลกรัม ถ้าประมาณว่าสกัดจนบริสุทธิ์ ได้เพียง 1.00% ก็เท่ากับได้ silica เท่ากับ 336 ล้านกิโลกรัม เป็นเงินอย่างประมาณเกือบ 45 ล้านล้านบาท นี่แหละผมถึงคิดว่าอาจเป็นอภิมหาโครงการต้มตุ๋นระดับโลก สำหรับการทำเหมือง silica และใกล้จะสำเร็จแล้วถ้าไม่เป็นข่าวขึ้นมาก่อน

ทำไมต้องที่ตะกั่วป่า เพราะในอดีตบริเวณทะเลอันดามันเป็นแหล่งทำแร่ดีบุกขนาดใหญ่ของประเทศ ดังนั้นทรัพยากรสินแร่จำพวก silica ก็ย่อมมีมหาศาลเช่นกัน ซึ่งสิงคโปร์ย่อมรู้ดีกว่าคนไทยเสียอีก ดังนั้นผมอยากเสนอแนะให้คนไทย โดยเฉพาะข้าราชการไทยรู้จักรักประเทศไทยอย่างแท้จริงไม่ใช่รักแบบ ศรีธนญชัย ได้ทำถูกต้องตามกฎหมายแล้วทุกอย่างก็จบ โลกยุคปัจจุบันคงไม่ใช่มองแค่ได้ของฟรี เพราะของฟรีไม่มีในโลก ถ้าสิงคโปร์อยากมาบริการคนไทยและประเทศไทย ก็ขอให้ลองเสนอโครงการขนขยะจาก กทม. ซึ่งมีวันละเป็นหมื่นตันไปใช้ก่อนดีไหม เป็นค่าเช่าสนามบินที่เอาเครื่องบินรบมาฝากในไทย ไม่ใช่จะมาขนสินแร่ที่มีค่าที่สุดในโลกปัจจุบันและอ้างบุญคุณกับคนไทย

นี่เป็นมุมมองอีกด้านเพื่อเสริม ดร.ธรณ์ ครับ

หน้า 9

http://www.matichon....&day=2009-10-25

มีค่าที่สุดในโลกเลย? อืม


:getmore (13):