CBOX เสรีชน

15 เมษายน, 2552

“อัลจาซีรา” รายงาน: กองทัพไทยบุกเข้าสลายผู้ชุมนุม

กิจกรรม นี้เกิดขึ้นจากทีมนักแปลอาสาสมัครที่อยากให้สาธารณชนได้บริโภคข่าวสารอย่าง รอบด้าน เนื่องเพราะเห็นว่าสื่อสารมวลชนของไทยมีปัญหาเรื่องการทำงานในสถานการณ์ วิกฤตินี้ เราจึงเลือกแปลข่าวของสื่อต่างชาติที่ยังสามารถทำงานตามหลักการวิชาชีพได้ โดยไม่มีอคติต่อฝ่ายใด และไม่มีอำนาจรัฐมาครอบงำ

ทีมแปลข่าวเฉพาะกิจ


13 เม.ย. 52 - ประชาชนหลายสิบคนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ที่กองทัพบุกเข้าสลายผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลในกรุงเทพฯ

มีการยิงปืน โยนก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่กัน ขณะที่กองทหารและผู้ประท้วงปะทะกันในช่วงย่ำรุ่งของวันจันทร์ใกล้ทางแยกของถนนสายสำคัญในตัวเมือง (สามเหลี่ยมดินแดง) ในขณะที่รัฐบาลประกาศที่จะ “เพิ่มความแข็งกร้าว” ในการสลายกลุ่มผู้ชุมนุม

นายพีรพงษ์ สายเชื้อ ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์กรุงเทพฯ กล่าวว่า มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ 77 ราย มี 19 รายที่ต้องนอนอยู่โรงพยาบาล

เขาเสริมว่า มี 4 รายถูกยิงบาดเจ็บ 2 รายเป็นพลเรือน อีก 2 รายเป็นทหาร

โฆษกของกองทัพผู้หนึ่งกล่าวว่า ทหารพยายามเข้าเคลียร์พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดงและถูกฝ่ายผู้ประท้วงยิงเข้าใส่ก่อนในช่วงย่ำรุ่ง ทหารจึงต้องยิงตอบโต้

ทหารยิงปืนกลเอ็ม-16 ออกไปหลายร้อยชุดขณะที่รุกคืบหน้า แต่ไม่ชัดเจนว่าทหารยิงขึ้นฟ้าหรือยิงเข้าใส่ผู้ประท้วง

พ.อ. สรรเสริญ แก้วกำเนิด กล่าวกับวิทยุชุมชนว่า กองทัพยิงขึ้นฟ้าเพื่อตอบโต้แก๊สน้ำตาและระเบิดควันที่ผู้ประท้วงโยนเข้าใส่ทหาร ก่อนที่เริ่มจะยิงไปทางผู้ชุมนุม

“เราเริ่มจากมาตรการละมุนละม่อมก่อน แล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มเป็นมาตรการที่รุนแรงขึ้น เราจะหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อตามคำสั่งของรัฐบาล” เขากล่าว

เสียงประณามกองทัพ

ฌอน บุญประคอง (Sean Boonpracong) โฆษกฝ่ายต่างประเทศของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) ที่เป็นแกนนำการประท้วงของกลุ่มเสื้อแดง วิจารณ์กองทัพว่า “ใช้ยุทธวิธีป่าเถื่อน....โดยยิงเข้าใส่พลเรือนไร้อาวุธ”

แต่เขายอมรับต่ออัลจาซีราว่า “มีพวกเราบางคนใช้ปืนสั้นยิงตอบโต้เพื่อป้องกันตัว”

โฆษกผู้นี้เรียกร้องให้กองทัพยุติปฏิบัติการทั้งหมดทันทีและนายอภิสิทธิ์ควรลาออก ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่

“ถ้าสถานการณ์เลวร้ายลง จะมีการนองเลือดมากกว่านี้และรัฐบาลต้องรับผิดชอบ” เขากล่าว พลางเสริมว่า ถ้ากองทัพเริ่มยิงใส่ผู้ประท้วงอีก พวกเขาอาจต้องบุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาลเพื่อ “ความปลอดภัย” ของตนเอง

ความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น

นายโทนี เฉิง (Tony Cheng) นักข่าวของอัลจาซีรา รายงานจากสถานที่เกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมงหลังการปะทะว่า สถานการณ์ยังคงตึงเครียดอย่างยิ่ง

แทนที่การบุกเข้าสลายของกองทัพจะทำลายกำลังใจของผู้ประท้วง ฝ่ายเสื้อแดงกลับแสดงความกล้าท้าทายมากกว่าเดิมและบอกว่า พวกเขาพร้อมหลั่งเลือดในการประท้วงครั้งนี้

แกนนำพยายามเรียกผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมืองหลวงให้มารวมพลที่ทำเนียบรัฐบาลในตอนสายของวันจันทร์

การปะทะกันในช่วงย่ำรุ่งดูเหมือนยังไม่ลุกลามไปถึงที่ชุมนุมหลักของผู้ประท้วงที่ปักหลักหน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งอยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร ฝ่ายรัฐบาลเองก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะบุกเข้าไปเคลียร์พื้นที่ตรงนั้น ซึ่งมีผู้ชุมนุมอยู่หลายหมื่นคน

พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ให้ข้อมูลว่า มีผู้ประท้วงราว 30,000 คนกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ

ผู้ ประท้วงยึดรถประจำทางและกระโดดขึ้นยานพาหนะของกองทัพเพื่อท้าทายการประกาศ พระราชกำหนดฉุกเฉินที่นายอภิสิทธิ์ประกาศใช้เมื่อวันอาทิตย์

นายปณิธาน วัฒนายากร โฆษกรัฐบาล กล่าวว่า กองทัพประสบความสำเร็จในการเคลียร์พื้นที่สี่แยกที่มีการจราจรหนาแน่นใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งมีประชาชนประมาณ 100,000 คนชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออก

“ปฏิบัติการลุล่วงโดยสมบูรณ์ มีผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งถูกคุมขังไว้ในสถานที่ปลอดภัย ปฏิบัติการครั้งนี้เป็นไปตามกฎหมาย โปร่งใสและมีเหตุผล” นายปณิธานกล่าวทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติหลังจากกองทัพสลายผู้ชุมนุมได้ไม่นาน

แต่ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ประท้วงย้อนกลับมาที่สี่แยกนี้อีกไม่กี่ชั่วโมงหลังการปะทะและปิดถนนอีกครั้ง ในขณะที่ทหารแสดง “ท่าทีแข็งกร้าว” แต่ไม่เคลื่อนเข้าหาผู้ประท้วงอีก

“ไม่ประกาศกฎอัยการศึก”

นายปณิธานกล่าวแก่สำนักข่าวอัลจาซีราว่า นายอภิสิทธิ์ยังคงมีอำนาจเต็มในการควบคุมประเทศและยังไม่มี “การประกาศกฎอัยการศึก” เพียงแต่นายกรัฐมนตรีได้ “มอบหมายอำนาจควบคุมการปฏิบัติงาน” ให้แก่คณะกรรมาธิการที่ประกอบด้วยนายทหารหลายคน ซึ่งกำลัง “จัดการต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน”

ฝ่ายตำรวจ ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องความจงรักภักดีต่อนายอภิสิทธิ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อมีผู้เห็นตำรวจหลายนายใส่เสื้อแดงสนับสนุนทักษิณและเข้าร่วมการประท้วง ต่อประเด็นนี้ นายปณิธานอธิบายว่า ตำรวจจะ “ร่วมสนธิกำลัง โดยมีกองทัพเป็นผู้นำ”

เขาเสริมว่า กองกำลังฝ่ายรัฐบาลจะ “เพิ่มความแข็งกร้าว” ในการจัดการต่อผู้ประท้วงและเคลื่อนเข้าสลายผู้ชุมนุมที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วเมือง

นายปณิธานยังกล่าวด้วยว่า กองทัพได้รับอนุญาตให้ใช้กระสุนจริง แต่ “อยู่ภายใต้คำสั่งเข้มงวดไม่ให้เล็งเป้าไปที่ประชาชนหรือยิงใส่ประชาชน” แต่จะใช้ในการป้องกันตัวเท่านั้น



ภาพถ่ายของสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นแสดงให้เห็นว่า มีประชาชนได้รับบาดเจ็บถูกลำเลียงออกไปหลังจากการปะทะเมื่อหัวรุ่งของวันจันทร์ ขณะที่ทหารเข้ายึดพื้นที่ใกล้กับฐานทัพที่ใหญ่ที่สุดในเมืองหลวง ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นฝ่ายผู้ประท้วง

เสียงเรียกร้องหาการปฏิวัติ

การปะทะกันนานนับชั่วโมงที่เริ่มประมาณตีสี่ เป็นการปะทะครั้งร้ายแรงครั้งแรกระหว่างผู้ชุมนุมกับกองกำลังฝ่ายรัฐบาล หลังจากการประท้วงต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ของกลุ่มเสื้อแดงที่สนับสนุนทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกกองทัพทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549

ทักษิณยังคงมีอิทธิพลทางการเมืองไม่น้อยในประเทศไทย แม้ตัวเขาเองอยู่ในสภาพลี้ภัยเกือบตลอดเวลามาตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2549 เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เขาเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนโค่นล้มรัฐบาล โดยสัญญาว่าจะกลับประเทศหากรัฐบาลบุกสลายผู้ประท้วง

เสียงเรียกหาการปฏิวัติของทักษิณมีขึ้นหลังจากที่นายอภิสิทธิ์ประกาศ พรก. ฉุกเฉินเมื่อวันอาทิตย์ หลังจากการประท้วงในวันเสาร์ที่ทำให้ต้องยกเลิกการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา

นายอภิสิทธิ์เตือนผู้ประท้วงให้กลับบ้าน มิฉะนั้นจะต้องเผชิญกับมาตรการรุนแรง ขณะเดียวกัน รถถังและกองทัพก็เคลื่อนเข้าสู่จุดต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ

“รัฐบาลพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงมาตลอด แต่การประท้วงกลับยกระดับความรุนแรงขึ้นและมีการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ” นายกรัฐมนตรีกล่าว

รัฐบาลดิ้นรนเพื่อควบคุมสถานการณ์

มีสัญญาณบ่งบอกว่า รัฐบาลกำลังสูญเสียการควบคุมมาตั้งแต่วันอาทิตย์ เมื่อผู้ประท้วงหลั่งไหลเข้าไปรุมล้อมรถถังสองคันหน้าห้างสยามพารากอน ก่อนที่จะสั่งให้ทหารขับรถถังกลับไปค่ายทหาร

ก่อนหน้านี้ รถยนต์ของนายอภิสิทธิ์ถูกทุบด้วยท่อนไม้ บันไดและกระถางต้นไม้หน้ากระทรวงมหาดไทย

มีคนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 6 คนจากเหตุการณ์ครั้งนั้น รวมทั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยของนายกรัฐมนตรี 2 นาย เลขาธิการของนายกฯ และคนขับ ขณะที่ตำรวจที่ยืนอยู่แถวนั้นไม่ทำอะไรเลย

เพื่อแสดงให้เห็นว่า เขายังมีอำนาจควบคุมและได้รับความจงรักภักดีจากกองทัพ นายอภิสิทธิ์ปรากฏตัวทางโทรทัศน์ในเช้าวันจันทร์ ขนาบข้างด้วยผู้บัญชาการกองทัพบก กองทัพเรือ ทหารอากาศและรองผู้บัญชาการกรมตำรวจ

“ผมยืนยันว่า รัฐบาลและหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมดยังคงจับมือกันอย่างแนบแน่น ท่านได้เห็นแล้วว่าผู้บัญชาการกองกำลังทั้งหมดอยู่ข้างกายผมในขณะนี้” เขากล่าว

ท. กุมาร (T Kumar) ผู้อำนวยการองค์กรนิรโทษกรรมสากลสำนักงานภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก บอกต่ออัลจาซีราว่า การที่กองทัพปฏิบัติการสลายผู้ประท้วงที่สนับสนุนทักษิณในวันจันทร์ เป็นภาพที่ขัดแย้งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับการที่กองทัพนิ่งเฉยไม่ทำอะไรเลยต่อผู้ประท้วงที่ต่อต้านทักษิณ ซึ่งชุมนุมประท้วงรัฐบาลสองชุดที่ผ่านมา ซึ่งมีความใกล้ชิดกับทักษิณ

“กองทัพมีการเคลื่อนไหวที่คิดคำนวณล่วงหน้าไว้แล้วว่าจะสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในขณะที่กองทัพไม่ทำอย่างนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีคนนี้ยังเป็นฝ่ายค้าน” เขาตั้งข้อสังเกต

การประท้วงครั้งก่อน ๆ นำไปสู่คำวินิจฉัยของศาลที่เพิกถอนรัฐบาลฝ่ายทักษิณและดันรัฐบาลของอภิสิทธิ์ขึ้นสู่อำนาจ

กุมารกล่าวว่า มีความหวาดกลัวกันว่า กองทัพจะออกล่าผู้ประท้วงและกวาดจับมากขึ้น ซึ่งจะยิ่งนำไปสู่การประท้วงที่รุนแรงกว่าเดิม การปกครองของทหารและ “ความแตกแยกที่ร้าวลึกยิ่งขึ้น” ระหว่างชนชั้นนำที่เป็นคนรวยในเมืองกับคนจนในชนบท

“วิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมสถานการณ์คือ จัดการเลือกตั้งใหม่ทันที” เขากล่าวและเตือนว่า ถ้าประเทศเพื่อนบ้านของไทยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประชาคมโลกไม่กดดันรัฐบาลให้จัดการเลือกตั้งใหม่ ประเทศไทยจะ “ดิ่งลงเหว”

ที่มา: Al Jazeera and agencies
http://english.aljazeera.net/news/asia-pacific/2009/04/200941303054537847.html ; 13 เมษายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น: