CBOX เสรีชน

16 มกราคม, 2552

‘สาทิตย์’ใบ้กินสางASTVกลืนน้ำลาย!ไม่คิดปิดสื่อ

แผนเช็กบิล"วิทยุชุมชน-ทีวีดาวเทียม-เว็บไซต์"พ่นพิษ "สาทิตย์" ถึงกับใบ้กินปัดตอบจัดการ "เอเอสทีวี" กลับลำยังไม่คิดตั้งแท่นเชือดหรือใช้กฎหมายมั่นคงเป็นเครื่องมือ ด้านนักวิชาการสับแหลกแนวคิดปฏิรูป NBT จี้ตอบให้ได้ก่อนว่าจะทำเพื่ออะไร ชี้แค่ปรับปรุงการนำเสนอให้รวดเร็วฉับไวก็เพียงพอแล้ว สอนมวยเป็นรัฐบาลต้องมองในภาพใหญ่ ไม่ใช่มาคิดเรื่องเล็กน้อยไร้สาระอย่างการเปลี่ยนโลโก้ ด้านก.ยุติธรรม คาดโทษ 3 ระดับจัดการมือโพสต์เว็บหมิ่นสถาบัน

จากกรณีที่กลุ่มนักวิชาการออกมาคัดค้านแนวคิดรัฐบาลในการเอากฎหมายความมั่น คงมาสั่งปิดวิทยุชุมชนและเว็บที่มีการหมิ่นสถาบัน รวมทั้งมีการตั้งคำถามย้อนถึงการพิจารณาการออกอากาศที่ไม่เหมาะสมของสถานี โทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ด้วยหรือไม่นั้น

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวโดยเลี่ยงตอบคำถาม ระบุแต่เพียงหลักการดำเนินการว่า ขอยืนยันยังไม่มีการสั่งปิดอะไรเลย เนื่องจากรัฐบาลเคยบอกว่าอำนาจเรื่องการดูแลเรื่องสื่อสารมวลชนมีกฎหมายดูแล อยู่แล้ว เนื่องจากมีกฎหมายดูแลอยู่ 2 เรื่อง อย่างเรื่องเปิด – ปิดสถานีต้องใช้กฎหมายเฉพาะ ส่วนเรื่องของเนื้อหา ใช้กฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องดูแล

ฉะนั้นหากมีการเสนอเนื้อหาข่าวอยู่ในกรอบไม่ต้องกังวล รัฐบาลต้องสนับสนุนในเรื่องของเสรีภาพของสื่ออยู่แล้ว แต่ต้องเป็นเสรีภาพที่มีความรับผิดชอบ ทั้งนี้หากเนื้อหาพาดพิงเกี่ยวเนื่องในเรื่องใดที่ผิดกฎหมายหรือมีการละเมิด สิทธิส่วนบุคคลก็ต้องมีการใช้สิทธิตามกฎหมายได้ ทั้งนี้ตนขอยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เอากฎหมายความมั่นคงไปเลือกปฏิบัติหรือ กลั่นแกล้งใคร

ขณะที่นายสุริยงค์ หุณฑสาร ผู้อำนวยการ NBT เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ว่าส่วนใหญ่เป็นการหารือถึงรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์" ซึ่งจะออกอากาศครั้งแรกในวันอาทิตย์ที่ 18 มกราคมนี้
ส่วนนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่จะปฏิรูปสื่อของรัฐ ให้อิสระจากการเมืองนั้น รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณาพัฒนาเอ็นบีทีให้สามารถบริการสาธารณะ และตอบสนองประชาชนได้อย่างแท้จริง 2 แนวทาง คือ 1.ทำให้เป็นองค์การมหาชน หรือ 2.ทำในรูปแบบของไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นทีวีสาธารณะและมีการออกกฎหมายเฉพาะ อย่างไรก็ตาม รูปแบบหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (เอสดียู) ซึ่งเป็นแนวทางมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลชุดผ่านๆ มา และมีมติคณะรัฐมนตรีออกมารองรับแล้ว ยังไม่มีการนำมาพูดถึง

ต่อกรณีดังกล่าว รศ.อรุณีประภา หอมเศรษฐี อดีตคณบดีนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่าจะเป็นไปได้อย่างไรที่จะเปลี่ยนรูปแบบของสถานีโทรทัศน์ NBT เนื่องจากต้นกำเนิดของสถานีนี้คือสถานีของภาครัฐ ถ้าปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรมหาชน หรือทีวีสาธารณะแล้ว รัฐจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือ เพราะรายการทุกวันนี้ของสถานีดังกล่าว ภาครัฐเองก็มีอำนาจจะให้ทำหรือไม่ให้ทำรายการใดก็ได้ ดังนั้น รัฐจำเป็นจะต้องมีเครื่องมือในการเสนอข่าวสารข้อมูลของรัฐ
การบริหารงานของสถานีโทรทัศน์ NBT หรือช่อง 11 เดิม มีจุดประสงค์ก็เพื่อเผยแพร่งานของภาครัฐ ทำไมรัฐบาลชุดนี้ถึงไม่ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์ ให้ระบบหรือเนื้อหาของรายการดึงคนดูจากเอกชนได้ พิจารณาโดยกำเนิดของสถานีก็ไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรที่จะเปลี่ยนแปลง และการปฏิรูปที่รัฐบาลจะให้มีขึ้นนั้นผลที่เกิดขึ้นดีอย่างไร เปลี่ยนไปแล้วมีอะไรดีขึ้น รัฐบาลต้องตอบให้ได้เสียก่อน

หากจะปรับให้เป็นภาคมหาชน ต้องคำนึงว่าคนจะมีสิทธิมากขึ้น ต้องมีคนถือหุ้นมากขึ้น แล้วรายการที่เกิดขึ้นจะคุ้มกับภาพลักษณ์ของรัฐได้อย่างไร เพราะเดิมที่สถานีนี้ไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง และไม่ต้องทำแข่งขันกับใคร

หากจะเปลี่ยนมาเป็นทีวีสาธารณะ ก็ต้องถามกลับไปยังคนคิดของรัฐบาลว่าคำว่าทีวีสาธารณะคืออะไร เวลาที่เขาพูดกันก็ดูดี แต่กรมประชาสัมพันธ์ก็เป็นสาธารณะอยู่แล้วไม่ใช่หรือ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นไปไม่ได้ ถึงอย่างไรก็ทำให้เป็นทีวีสาธารณะไม่ได้

อย่างสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (TPBS) ถามว่าเป็นสาธารณะแล้วหรือ แต่แรกก็ตั้งมั่นทำท่าจะอยู่รอดปลอดภัย ก็ไปเปลี่ยนเนื้อหาของสถานี ตอนนี้เลยต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าหาจุดยืนให้กับตัวเอง

“ถามหน่อยว่าจะไปทำให้ใครดู ปัจจุบันมันไม่เป็นสาธารณะหรืออย่างไร คำว่าทีวีสาธารณะเวลาพูดมันก็ดูโก้ แต่ถ้าสนใจทำขึ้นมาจริงๆ ก็ต้องบอกได้ชัดเจนว่ารูปแบบต่อไปนี้เป็นอย่างไร ไม่ใช่มาบอกคำๆหนึ่งว่าทีวีสาธารณะ มันต้องมีนิยาม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอะไร ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นมีใครจะบอกได้ ชี้ไปเลยว่าจะมีเนื้อหาสาระกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่มีบันเทิงหรืออะไรยังไง แต่นี่มันไม่มีคำชัดเจน ฟังแล้วดูเก๋ ดูเป็นของส่วนรวม แต่ในความเป็นจริงมันเป็นไปไม่ได้หรอก”

รศ.อรุณีประภา กล่าวต่อไปว่ายกตัวอย่างสถานีโทรทัศน์ BBC เองก็ยังไม่ค่อยจะเป็นทีวีสาธารณะเลย ยังใช้ทุนสนับสนุนของรัฐเพื่อมาทำรายการเสนอข่าวการทำงานให้รัฐบาลอยู่ หากรัฐบาลไทยจัดทำทีวีสาธารณะได้แล้วก็ขอให้บอกว่าความหมายที่ให้เป็นอย่าง ไร จะได้วิจารณ์ถูกว่าดีหรือไม่ดี

หน้าที่ของรัฐบาลควรพัฒนาให้สถานีโทรทัศน์ NBT ดีขึ้น ดูแลว่าข่าวสารดีขึ้นหรือไม่ เสนอข่าวรวดเร็วทันใจขึ้นหรือยัง จริงๆ ช่องนี้น่าจะได้เปรียบด้านการเสนอข่าวสารและข้อมูลมากกว่าช่องอื่น ไม่ว่าจะเรื่องความรวดเร็วและความถูกต้อง แต่ทุกวันนี้กลับทำได้ช้ากว่าที่อื่น ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเป็นอย่างนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เป็นของกรมประชาสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรพัฒนาระบบให้ทันสมัย เนื่องจากเป็นสื่อโทรทัศน์ต้องมีความรวดเร็ว ข่าวสารต้องแม่นยำ ดังนั้นไม่เห็นจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นอะไร ดูแลเรื่องระบบจะดีกว่า รัฐบาลต้องมองโครงการใหญ่ๆ ไม่ใช่มานั่งดูอะไรเล็กๆ น้อยๆ อย่างเรื่องของโลโก้ของสถานีโทรทัศน์ NBT

ในวันเดียวกันนี้ ทางด้านนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นสถาบันว่า ได้แบ่งความผิดไว้ 3 ระดับ คือ ระดับแรก รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หลงผิด เข้าใจผิดในข้อมูล ก็จะเป็นการว่ากล่าวตักเตือน ระดับ 2 คือ จงใจทำผิดโดยมีการถูกจ้างหรือเจตนาไม่ดีอย่างจริงจัง และระดับ 3 เป็นการตั้งใจทำอย่างเป็นกระบวนการ โดยมีวัตถุประสงค์ไม่ชอบ

"เรื่องนี้ไม่เหมือนในหลายประเทศ เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเป็นยิ่งกว่าสัญลักษณ์ เนื่องจากเป็นสถาบันที่ทำให้ชาติไทยเป็นชาติไทยได้ทุกวันนี้ ดังนั้นจึงได้จัดความผิดไว้ในหมวดความมั่นคงแห่งรัฐ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จัดไว้ในหมวดหมิ่นประมาท เพราะสำหรับประเทศไทยเป็นการกระทำที่กระทบความมั่นคงอย่างรุนแรง"

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกด้วยว่า ช่วงที่ผ่านมาได้สั่งปิดเว็บไซต์ไปกว่า 2,000 เว็บ แต่การจับกุมคนทำเว็บไซต์ สามารถทำได้ยาก เนื่องจากกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ไม่ได้ระบุความผิดไว้โดยเฉพาะ และมีหลายจุดไม่ชัดเจน ซึ่งต่อไปจึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าอีกสักระยะหนึ่ง เว็บหมิ่นเบื้องสูงจะลดน้อยหรือไม่มีเลย

ไม่มีความคิดเห็น: