CBOX เสรีชน

13 กันยายน, 2552

ชนักปักหลัง “รัฐประหาร 2549”

โดย บุญเลิศ ช้างใหญ่

http://bhiromography.multiply.com/journal/item/561

พลันที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
เข้า ยึดอำนาจ โค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อคืนวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ก็ถูกยกเลิก (ถูกฉีก) โดยทันที

นั่นเท่ากับว่า มาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญที่บัญญัติว่า

"บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ
โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ"

ที่มีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านรัฐประหาร
เป็นเพียงตัวอักษรบนเศษกระดาษเท่านั้น

รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 อันเป็นรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารซึ่งใช้อยู่ในขณะนี้
ก็บัญญัติข้อความเดียวกันนี้ไว้อีกในมาตรา 69 ก็หาได้เกิดสารประโยชน์อันใดไม่

นับ แต่เกิดการปฏิวัติเมื่อ 24 มิถุนายน 2475 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ได้เกิดรัฐประหารมาแล้ว 9 ครั้ง เกิดกบฏ 12 ครั้ง ซึ่งหมายถึงผู้ก่อการล้มรัฐบาลกระทำไม่สำเร็จ คณะบุคคลที่ก่อกบฏต่างมีความผิดและได้รับโทษหนักเบาแตกต่างกันไป

รัฐ ธรรมนูญฉบับแล้วฉบับเล่าที่ถูกฉีกโดยคณะรัฐประหารได้อย่างง่ายดายทั้ง 9 ครั้ง แท้จริงแล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญนั้นไม่มีบทบัญญัติ ให้ความคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการรัฐประหาร เช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่สามารถเอามาใช้ดำเนินคดีกับคณะรัฐประหารก็ไม่ต่างไปจากเศษกระดาษ ทั้งนี้ มาตรา 113 บัญญัติว่า

ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

มีข้อน่าพิจารณาว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรานี้กลับถูกนำมาใช้กับกลุ่มบุคคลที่เป็นราษฎร
ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใด ฝ่ายไหน เมื่อออกมาขับไล่รัฐบาลจะด้วยความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรม
ในทรรศนะของใคร ตำรวจจะตั้งข้อหา ออกหมายจับ อัยการส่งฟ้อง
และสุดท้ายถูกศาลตัดสินให้รับโทษ

เมื่อ เป็นดังนี้ จะเข้าใจเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากคนที่มีกำลังอาวุธ ถ้าล้มล้างรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ มีสิทธิกระทำได้โดยชอบธรรม ไม่ถือเป็นความผิดและไม่ต้องรับโทษใดๆ หรือว่าความยุติธรรมไม่มีในโลก ดังที่ใครไม่รู้เคยพูดไว้

การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านพ้นไป
โดยไม่มีใครอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 65 ที่ถูกฉีกทิ้งไป
แล้วออกมาต่อต้านคณะรัฐประหารโดยสันติวิธีต่อเพื่อให้ผู้มีอาวุธเหล่านี้ถอยออกไป
เพราะถือว่าเข้ามามีอำนาจขัดต่อครรลองของรัฐธรรมนูญ ไม่เป็นประชาธิปไตย
หรือ แม้จะมีใครออกมาต่อต้านก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับผลกรรมเช่นใด อาจถูกจับ ถูกฆ่าตาย หรือถูกพิพากษาตัดสินให้จำคุกหรือประหารชีวิตหรือไม่ก็มิอาจทราบได้ แต่ต้องยอมรับว่าเสี่ยงมากๆ หากใครคิดจะพึ่งมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 2540

กรณี นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายบุญเกิด หิรัญคำ และนายอนันต์ ภักดิ์ประไพ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นฟ้องจอมพลถนอม กิตติขจร หัวหน้าคณะปฏิวัติ (รัฐประหาร) หลังปฏิวัติตัวเองวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 ฉีกรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสภาผู้แทนราษฎร แทนที่เผด็จการจะผิดและได้รับโทษ บุคคลทั้ง 3 กลับถูกจับกุมและถูกขังคุก หากไม่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ออกกฎหมาย ทั้ง 3 คนนี้คงต้องกินข้าวแดงและทนทุกข์ทรมานอยู่ในเรือนจำต่อไป โดยไม่มีใครหรือกระบวนการยุติธรรมที่ไหนมาช่วย

สำหรับการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มิอาจถือว่าเป็นสิ่งถูกต้องได้เลย นี่เองในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งประกาศใช้ 1 ตุลาคม 2549 ก็บัญญัติไว้ในมาตรา 37 ให้ถือว่าบรรดาการกระทำทั้งหลายซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดและควบคุมอำนาจ การปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และการกระทำของผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวง การไปลงโทษใครต่อใคร หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดชอบโดยสิ้นเชิง

เพื่อความแน่ ใจจะไม่ถูกใครมาโต้แย้งและเอาโทษคณะรัฐประหารและผู้เกี่ยวข้องในภายหลัง กลไกของคณะรัฐประหารก็ไปบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 309 คุ้มครองไว้อีกชั้นหนึ่ง

แม้ในทางกฎหมาย สถาบันในกระบวนการยุติธรรมจะถือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ฉบับของคณะรัฐประหาร กล่าวคือ คณะรัฐประหารทำอะไรไว้เป็นสิ่งที่ชอบ แต่ในทางการเมือง กลไกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศ คำสั่งของคณะรัฐประหารและรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง รวมถึงโครงสร้างอำนาจและสถาบันสำคัญของประเทศกำลังถูกสั่นคลอนและท้าทาย อย่างรุนแรง
จากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พรรคเพื่อไทย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและคนเสื้อแดง ซึ่งไม่เคยเกิดปรากฏการณ์ลักษณะนี้มาก่อนนับแต่เกิดรัฐประหารมา 9 ครั้ง

การชุมนุมปราศรัยทางการเมืองของคนเสื้อแดงในหลายพื้นที่
กระทำ ต่อเนื่องด้วยเนื้อหาที่เผ็ดร้อน การรวบรวมรายชื่อคนเสื้อแดงเกือบ 6 ล้านคน เพื่อทูลเกล้าฯถวายฎีกาพระมหากษัตริย์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่านี่คือ ปฏิกิริยาของฝ่ายตรงข้ามกับคณะรัฐประหาร
ที่กำลังใช้สิทธิต่อต้านการยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ
แล้ว เอาโทษกับ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกตนอย่างผิดทำนองคลองธรรม เพียงแต่ว่าไม่ได้มุ่งขับไล่คณะรัฐประหารเพราะคณะรัฐประหารได้หมดอำนาจไป แล้ว หากทว่าเป็นการกระทำกับกลไกและตัวแทนฝ่ายต่างๆ ทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง (พันธมิตร) ทหาร องคมนตรีบางคน เป็นต้น

ยิ่งฝ่ายตรง ข้ามของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคนเสื้อแดง อันได้แก่รัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พันธมิตร นักวิชาการบางส่วน ผู้นำทหารบางนาย ฯลฯ ใช้อำนาจกฎหมายและวิธีการต่างๆ เพื่อหักโค่น ขัดขวางฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณและคนเสื้อแดง ดังกรณีการขึ้นป้ายขนาดใหญ่คัดค้านการเข้าชื่อถวายฎีกา การแจ้งจับแกนนำ นปช. การสั่งถอนชื่อในฎีกา การล่าชื่อคัดค้านการถวายฎีกา ฯลฯ แทนที่จะเกิดผลดีกับฝ่ายมีอำนาจกลับก็จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกไปมากยิ่ง ขึ้น บ้านเมืองที่คุกรุ่นก็จะลุกเป็นไฟ

คนเสื้อแดงจำนวนไม่น้อยกำลัง รู้สึกว่า พวกตนกำลังถูกบีบบังคับจากฝ่ายตรงข้ามไม่ให้จงรักภักดีพระมหากษัตริย์ เพราะแค่การเข้าชื่อถวายฎีกาก็ยังถูกต่อต้านทุกรูปแบบ ซึ่งเหมือนกับในอดีตที่คนไม่ได้มีความคิดจะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) แต่เมื่อถูกบีบบังคับเข้ามากๆ ในที่สุดก็เลยเข้าป่าจับปืนเป็น ผกค.เสียเลย

หากความรู้สึกเช่นนี้แผ่ขยายไปสู่คนเสื้อแดงมากเท่าไร อันตรายจะเกิดขึ้นกับสังคมไทย ถึงตอนนั้น ใครและสถาบันไหนจะมาแก้และคิดว่าจะแก้ได้ง่ายๆ หรือ?


(ที่มา มติชนรายวัน , 13 สิงหาคม 2552)

...

บุญเลิศคิดออกแล้ว ถึงจะช้ามากไปหน่อยก็ยังดี

ไม่มีความคิดเห็น: