CBOX เสรีชน

22 มีนาคม, 2552

สถาบันพระปกเกล้า สมุนอำมาตย์ อย่าสะเออะมาเป็นคนกลางปฎิรูปการเมือง



ผมได้ยิน ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปฎิรูปการเมือง แล้วผมรู้สึกขบขันเป็นอย่างยิ่ง


พวก คุณคิดว่าประชาชนไทยโง่นักหรือครับ ที่จะไม่รู้ว่า วิกฤติการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองไทยครั้งนี้ใครเป็นตัวกลาง ใครเป็นคู่กรณี ใครเป็นต้นเหตุแห่งความขัดแย้งทางการเมือง

ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้ไม่ได้เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย หรือความขัดแย้งระหว่าง กลุ่ม พธม. กับกลุ่มคนเสื้อแดง แต่เป็นความขัดแย้งระหว่าง "อำมาตรยาธิปไตย" กับ "ระบอบประชาธิปไตยแบบมวลชน" นักการเมืองไม่ใช่สาเหตุแห่งการขัดแย้งครั้งนี้ นักการเมืองทั้งหลายเป็นเพียงแต่คนแสดงบนเวทีเท่านั้น แต่ไม่ใช่คู่กรณี

คู่ กรณี คือ คนที่เขารู้กันทั่วประเทศ แต่ห้ามพูดนั่นแหละ หากไม่ยอมรับความจริง คิดว่าชาวบ้านโง่ แล้วพยายามหลอกตัวเองว่าเป็นกลาง มันก็ไม่มีทางแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ได้



สถาบันพระปกเกล้านั้น เป็นองค์กรที่เป็น "ตัวแทนของอำมาตรยาธิปไตย" โดยแท้ เป็นแหล่งซ่องสุมของบริวารอำมาตย์โดยตรง และ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโน คือ ลูกสมุนสำคัญของอำมาตรยาธิปไตยเลยทีเดียว การเสนอตัวเองมาเป็นคนกลางเพื่อแก้วิกฤติการณ์ทางการเมือง คือ "ความหน้าด้าน" อย่างเห็นได้ชัด ยังหลงตัวเองอยู่อีกหรือว่า ไม่มีใครรู้ทันเล่ห์เหลี่ยมการเมืองครั้งนี้ของอำมาตรยาธิปไตย



ตอน นี้ผมไม่คิดว่าประเทศไทยจะมีคนกลางแล้ว และสังคมไทย ไม่มีผู้ใหญ่ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความเคารพอีกต่อไป ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ตัวการแห่งความขัดแย้งทั้งหลาย ที่เป็น "ตัวการจริงๆ " จะต้องแสดงความจริงใจออกมาก่อนว่าต้องการแก้ไขปัญหาครั้งนี้



การเสนอตัวเองเข้ามาของ สถาบันพระปกเกล้า ผมแทบจะมองออกเลยว่า รัฐธรรมนูญที่ออกมาจะเป็นอย่างไร มันคงเป็นรัฐธรรมนูญ "ระบอบ 70/30 " แบบเนียนๆ นั่นแหละครับ เป็นรัฐธรรมนูญที่ สงวนอำนาจของอำมาตยาธิปไตยเอาไว้ และไม่เคารพในอำนาจของปวงชนอย่างแท้จริง คงมีองค์กรอิสระที่ท้ายสุดแล้วที่มาขององค์กรเหล่านี้ คือ ตัวแทนของอำมาตยาธิปไตย ที่เข้ามา "ขัดขวางอำนาจของปวงชน" นั่นเอง แทบจะเดาได้เลยว่ามันจะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร



รัฐ ธรรมนูญที่ไม่เคารพในอำนาจของปวงชน ให้อำนาจพวกที่มาจาก การแต่งตั้ง หรือจะเรียกอย่างโก้หรูว่า "สรรหา" ที่จริงก็ สรรหามาจากกลุ่มอำมาตรยาธิปไตยนั่นแหละ ไม่ได้มีอะไรที่ซับซ้อนนัก รัฐธรรมนูญแบบนี้ ก็คงไม่ต่างจาก รธน.ปี 50 ที่มาจาก คมช. นั่นแหละ



อัน ที่จริงแล้ว ตัวของ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโนเอง ก็ไม่ได้มีเกียรติหรือศักดิ์ศรีเพียงพอที่จะเข้ามาเป็นคนนำการปฎิรูปการ เมืองครั้งนี้ การยื่นหนังสือถึงนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้เข้าไปร่วมมือกันปฎิรูปการเมืองนั้น ผมไม่คิดว่า “นักวิชาการในมหาวิทยาลัย” ยุคนี้จะมีเกียรติพอที่จะเป็นผู้นำในการปฎิรูปทางการเมือง เพราะคนเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้วก็ขายตัวให้กับอำมาตยาธิปไตย ไปจนหมดสิ้นแล้ว ไม่ ว่าจะเป็นอธิการบดีนิด้า หรือ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนเหล่านี้ “ไร้เกียรติในทางวิชาการ” แทบทั้งสิ้น เพราะพวกเขาเข้าไปสยบต่อ คณะรัฐประหาร สยบต่ออำมาตยาธิป แต่ยังจะเสนอหน้าเข้ามาปฎิรูปทางการเมือง

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยครั้งนี้ ในความคิดเห็นของผมแล้ว มันไม่ได้เป็นเพียงความขัดแย้งทางชนชั้นเท่านั้น แต่มันคือ การพัฒนาการทางการเมือง ของสังคมที่กำลังเคลื่อนตัวจากสังคมเกษตรกรรม เข้าสู่ความเป็นสังคมอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไปที่มีสิทธิในการเลือกตั้ง เริ่มเรียนรู้ในอำนาจของตน และเลือกตั้งตามผลประโยชน์ของชนชั้นตน เช่น คนรากหญ้าก็เลือกพรรคที่มีนโยบายสนับสนุนพวกเขา เหมือนการทุ่มคะแนนให้กับพรรคไทยรักไทย ของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เป็นต้น

ใน ขณะเดียวกัน สังคมไทยที่มีการโปรประกันดากันมาหลายทศวรรษ เกี่ยวกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” บารมี หรือที่ ประเทศจีนยุคเหมาเซตุง เคยโปรประกันดายกยอเหมาเซตุง จนเลิศเลอ รวมๆ แล้วเรียกว่า “ลัทธิบูชาตัวบุคคล” หลายทศวรรษมานี้ ประเทศไทยเหมือนอาณาจักรทางศาสนาของยุโรปในยุคกลางเลยทีเดียว ที่มีการบูชาพระเจ้า ใครขัดแย้งต่ออาณาจักรทางศาสนา ก็โดนกฎหมายเล่นงาน ไม่ต่างจาก “ลัทธิเผาแม่มด” ในยุคกลางมากนัก

สังคมเริ่มยุคอุตสาหกรรม ปะทะเข้ากับ “อาณาจักรจิตวิญญาณเก่าที่กำลังตาย” ก็เลยเกิดเป็น วิกฤติการณ์ทางการเมืองขึ้น

ผมอาจเขียนวกวนไปบ้าง เพื่อจะได้ไม่ต้องโดนเผา เหมือนแม่มดในยุคกลางโดนเผา แต่แฟนๆ ที่ติดตามผมก็คงรู้ว่า ผมพูดถึงอะไร

นั่นแหละครับคือ “ต้นตอรากฐานของความขัดแย้ง” หากยังไม่ยอมรับความจริง มันไม่มีทางแก้ไขได้หรอก

ความ พยายามในการที่จะปฎิรูปการเมืองของสถาบันพระปกกล้า คงล้มเหลว เข่นเดิม เหมือนที่ ดร.โคทม อารียา เคยพยายามที่จะเริ่ม “สานเสวนา” เพื่อความปรองดองแห่งชาติ เมื่อสองสามเดือนที่แล้วมา ที่สุดท้ายก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า เพราะไม่มีใครร่วมมือด้วย และคนที่เป็นตัวกลางของความขัดแย้ง พอจะกล่าวนามได้คนหนึ่งคือ “พล.อ.ป.” ก็ไม่ได้เข้ามาเจรจาด้วย

ทีจริงไม่มีทางที่จะสำเร็จได้ไม่ว่าใครริเริ่ม หากไม่ยอมรับความจริงว่า ความ ขัดแย้งครั้งนี้ เกิดขึ้นระหว่าง “อำมาตยาธิปไตย” กับ “ประชาธิปไตยแบบมวลชน” แล้วพยายามที่จะหลอกตัวเอง “กันใครบางคนบางกลุ่ม” ที่เป็นตัวกลางของความขัดแย้งออกไป

ผม ไม่ค่อยกังวลนักกับวิกฤติการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ เพราะผมเชื่อว่า สุดท้ายสังคมจะมีทางออกของมันเอง สังคมไทยมาสู่ยุคที่ “ดักแด้” ต้องกลายเป็น “ผีเสื้อ” โบยบินไป มันถึงเวลาที่ ดักแด้ต้องลอกคราบแล้ว จะดิ้นรนขัดขวางอย่างไร มันก็ไม่มีทางที่จะปิดกั้นการพัฒนา หรือ กันไม่ให้ดักแด้ลอกคราบไปได้

สุดท้าย ประชาชนจะชนะ และอำมาตยาธิปไตยคงเสื่อมสลายไป มันคือพัฒนาการของสังคม

สถาบันบางสถาบันหากไม่ปรับตัว ก็คงล่มสลายไปกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปนี้

ผมเชื่ออย่างหนึ่งว่า “วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2009” จะ เป็นตัวการที่ทำลายอำมาตรยาธิปไตย ลงไปอย่างราบคาบ สังคมที่เคลื่อนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม คงไม่มีสถาบันใดที่ศักดิ์สิทธิ์ แต่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม จะสามารถอยู่ได้ต่อไปได้

สื่อที่พยายามออกมาตีปิ๊ปให้สถาบันพระปกเกล้า ไม่ได้ประเมินตัวเองเลยว่า ยุคปี 2009 นี้ สื่อกระแสหลักได้เสื่อมลงไปหมดสิ้นแล้ว ไม่มีใครเขาเชื่อสื่อกันอีกต่อไปแล้ว ความไม่เป็นกลาง และไปสยบแทบเท้าของอำมาตยาธิปไตยบวกพวกศักดินา ทำให้สื่อกระแสหลักหมดสิ้นคุณค่าต่อสังคมไปนานแล้ว

ปัจฉิมลิขิต

นักการ เมืองไม่ได้เป็นตัวการของปัญหา นักการเมืองแบบทักษิณกำลังปกครองประเทศไปได้ดี ประชาชนมีความหวัง อยู่พวกอำมาตย์+ศักดินา ก็ใช้ทหารเป็นเครื่องมือ ทำลายรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็ทำลายความสามัคคี และเสถียรภาพทางการเมืองของคนไทยไปอย่างย่อยยับ

นักการเมืองไม่ได้โกงกินชาติมากไปกว่าพวกอำมาตยาธิปไตย ที่สูบเลือดสังคมมานาน แต่นักการเมืองคือ ตัวแทนของประชาชน และประชาชนสามารถเปลี่ยนได้ แต่พวกอำมาตย์ ประชาชนเปลี่ยนไม่ได้ พวกนี้รวยกว่านักการเมืองมากนัก

คนที่สร้างความแตกแยกให้กับคนไทยมาสามปีกว่านี้ คือพวกอำมาตย์นั่นแหละ ไม่ใช่นักการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: