ประชาทรรศน์
26 ม.ค. 2009
พลิกแฟ้มคดีที่ดินศาลธัญบุรี หลัง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรง ‘สมชาย วงศ์สวัสดิ์’ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่กรณีสั่งระงับไม่ดำเนินคดีอธิบดี-รองอธิบดีกรมบังคับ คดี พร้อมโยนเผือกร้อนให้ ‘กระทรวงตราชั่ง’ สั่งฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท ด้าน ‘สมชาย’ กลืนเลือด!! มีประวัติด่างพร้อย ถูกปลดออกจากราชการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 มกราคม 2552 แจ้งไปยังประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทราบมติของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ลงโทษปลดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากราชการ ขณะเดียวกันยังสั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ส่งสำเนาเรื่องไปให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อดำเนินการสำหรับความผิดทางแพ่งอีก ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.2551 ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (อดีตนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม) ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดีนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี กรณีไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาล จ.ธัญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย
หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน ซึ่งขระนั้นนายสมชายปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงฯ ก่อนจะลาออกจากราชการ แม้ว่า ครม.จะมีมติให้ย้ายนายสมชายกลับมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่มตินั้นยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ต่อมา อ.ก.พ.กระทรวงแรงงาน ซึ่งขณะนั้นมีนางอุไรวรรณ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ใช้เวลาร่วม 2 เดือนในการพิจารณาเรื่องที่ ป.ป.ช.ส่งมา กระทั่งเพิ่งมีมติ อ.ก.พ.ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ลงโทษปลดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากราชการดังกล่าว
ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หลังจาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้กระทรวงต้นสังกัดดำเนินการภายใน 30 วัน โดยคดีนี้มีโทษ ปลดออก ให้ออก หรือไล่ออก เท่านั้น
และตามมาตรา 84 วรรคสอง ตามความใน พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ไม่ได้ระบุว่าห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง การชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จึงไม่มีผลต่อคุณสมบัติต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมชาย (ในขณะนั้น) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 มาตรา 97 กำหนดโทษข้าราชการที่ถูกปลดออก ยังสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญได้ต่อไป เสมือนได้ลาออกเอง
ขณะเดียวกัน ตามหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการหากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด บทลงโทษมีอยู่สองอย่างคือไม่ปลดออกก็ต้องไล่ออก ซึ่งการถูกไล่ออกจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ
อนึ่ง ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ต่ออายุราชการนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงสองครั้งเป็นเวลา 2 ปี จนเต็มเพดาน และตามกฎหมายไม่สามารถต่อายุในตำแหน่งเดิมได้อีก ครม.จึงได้ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมาย โดยย้ายนายสมชายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2549
จากนั้น ครม.ได้มีมติย้ายนายสมสมชาย กลับมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ทำให้นายสมชายตัดสินใจลาออกจากราชการ และเข้าสู่การเมือง กระทั่งได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 26 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2551 ที่ผ่านมา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น