"ชาจนไร้ความรู้สึก"
บทนำมติชน
"งามหน้า" อีกแล้ว สำหรับประเทศไทยเมื่อถูกองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) เปิดเผยผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์ปัญหาคอร์รัปชั่น ประจำปี 2552 (Corruption Perceptions Index 2009) พบว่า ประเทศไทยได้ 3.4 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน (คะแนนมากเท่ากับมีความโปร่งใสมาก) อยู่อันดับที่ 84 เท่ากับประเทศเอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา อินเดีย และปานามา จากการจัดอันดับทั้งหมด 180 ประเทศทั่วโลก ยังดีกว่าประเทศอิรัก ซูดาน พม่า อัฟกานิสถาน โซมาเลีย ซึ่งกลุ่มประเทศรั้งท้ายเหล่านี้มีคะแนนระหว่าง 1.5-1.1 นอกจากนี้ ไทยยังอยู่อันดับที่ 10 จาก 23 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีชี้วัดตั้งแต่ปี 2538-2552 ปรากฏว่าอันดับของประเทศไทยแย่ลง
จะว่าองค์กรที่สำรวจปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมีอคติ หรือลำเอียงต่อประเทศไทยคงพูดไม่ได้และเป็นองค์กรที่ไม่มีความน่าเชื่อก็คง ไม่ได้เช่นกัน เพราะองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรณรงค์แก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่น มีเครือข่ายใน 120 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย การจัดทำดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของประเทศต่างๆ ก็กระทำเป็นประจำทุกปีมาตั้งแต่ปี 2538 หรือเมื่อ 14 ปีก่อน โดยในปีนี้ (2552) ได้จัดอันดับจากประเทศต่างๆ จำนวน 180 ประเทศ โดยใช้ผลสำรวจของสำนักโพลต่างๆ รวม 10 แห่ง ที่ได้มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในช่วงปี 2551 และ 2552
"งามหน้า" มิได้หมายถึงการมีใบหน้าสุดสวย งดงาม ไร้สิวไร้ฝ้าที่ใครเห็นต้องตะลึงพรึงเพริด หากทว่า เป็นอาการที่ควรได้รับความอับอาย ขายหน้าบ้านอื่นเมืองอื่น เพราะไทยที่เคยได้ชื่อว่า เป็นดินแดนที่อุดมไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น มาถึง พ.ศ.นี้กลับกลายเป็นดินแดนที่ภาพลักษณ์ตกต่ำย่ำแย่มากขึ้นกว่าเดิม ด้วยเหตุที่การกินสินบาทคาดสินบน จ่ายเงินใต้โต๊ะเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาแพร่กระจายไปทั่ว จากผลการจัดอันดับขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย พบว่า ปี 2549 ไทยได้ 3.6 คะแนน อยู่อันดับ 63, ปี 2550 ได้ 3.30 คะแนน อันดับที่ 84, ปี 2551 ได้ 3.50 คะแนน อันดับที่ 80 เมื่อพิจารณาเฉพาะการจัดอันดับของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย พบว่า ประเทศที่มีคะแนนเป็นอันดับที่ 1-10 ซึ่งได้ชื่อว่ามีความโปร่งใสมาก ได้แก่ สิงคโปร์ 9.2 คะแนน, ฮ่องกง 8.2 คะแนน, ญี่ปุ่น 7.7 คะแนน, ไต้หวัน 5.6 คะแนน, เกาหลีใต้ 6.5 คะแนน, มาเก๊า 5.3 คะแนน, ภูฏาน 5.0 คะแนน, มาเลเซีย 4.5 คะแนน, จีน 3.6 คะแนน และไทย 3.4 คะแนน ส่วนอันดับสุดท้ายคือ 20 ได้แก่ พม่า 1.4 คะแนน
โปรดอย่าได้แก้ตัวหรือถกเถียงเพื่อจะโยนความผิดไปให้คนอื่น สำหรับรัฐบาลในปัจจุบันที่บริหารประเทศมาเกือบครบ 1 ปีเต็ม การที่ไทยตกอันดับลงอีกในแง่ของภาพลักษณ์จากปัญหาคอร์รัปชั่นที่ไทยแทบจะ รั้งท้ายหรือเกือบจะโหล่สุดเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน และในระดับโลกที่ไทยก็ติดกลุ่มประเทศที่มีสถิติการจัดอันดับให้เป็นประเทศ ที่ปัญหาการทุจริตหนักหนาสาหัสเพิ่มขึ้นกว่าอดีต เพราะนอกจากรัฐบาลจะไม่ได้มีมาตรการที่จะป้องกันและปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชั่น คนในรัฐบาลก็ตกเป็นข่าวอื้อฉาวในสื่อมวลชนเสียเองว่าเข้าไปหาเศษหาเลยจาก เงินงบประมาณแผ่นดิน ในส่วนขององค์กรตรวจสอบซึ่งมีอยู่หลายองค์กรก็ย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่เพียงแต่ขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่นด้วยความอืดอาด ล่าช้า การตกอยู่ในวังวนของการถูกกล่าวหาโจมตีจากคนบางส่วนอันเนื่องมาจากปัญหาการ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 การให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมก็มิอาจทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่า เป็นการร่วมมือกันแบบ 3 ประสาน ระหว่างนักการเมือง ข้าราชการประจำ และพ่อค้านักธุรกิจ โดยที่องค์กรตรวจสอบไล่ไม่ทัน การหาผลประโยชน์โดยมิชอบที่เกิดจากการสมคบกันของฝ่ายต่างๆ ได้กลายเป็นวัฒนธรรมอันเลวร้ายอยู่ในขั้น "วิกฤต" ซึ่งหาทางออกไม่เจอเช่นเดียวกับ "วิกฤตการเมือง" จากการนำเสนอผลการสำรวจขององค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทยที่ไทยแย่กว่า เดิม คนไทยจำนวนไม่น้อยที่อาจบอกด้วยอาการปลงตกว่า หน้าชาจนไม่มีความรู้สึกใดๆ อีกแล้ว น่าช้ำใจก็ตรงที่คนที่ควรจะเอาปี๊บคลุมหัวเพราะมีหน้าที่และรับผิดชอบโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือองค์กรตรวจสอบกลับรู้สึกเฉยๆ ไม่มีการกระตือรือร้นที่จะแก้ไขเลยแม้แต่น้อย
(ที่มา มติชนรายวัน , 20 พฤศจิกายน 2552)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น