CBOX เสรีชน

22 กุมภาพันธ์, 2552

โอเพนซอร์สของไทยทำไมไปไม่ถึงไหน





เผลอเดี๋ยวเดียวก็เข้ามาอยู่ในวงการโอเพนซอร์สบ้านเราก็เกือบ 10 ปีเข้าไปแล้ว ที่ผ่านมาก็ได้เห็นได้เจออะไรมากมาย ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ใครรู้จักโอเพนซอร์สเลย เรื่อยมาจนถึงสมัยที่โอเพนซอร์สโด่งดังทำท่าว่าจะมีอนาคตอันสดใส แต่จนแล้วจนรอดมันก็กลายเป็นแค่พลุที่ลอยขึ้นสูงแตกออกแล้วก็จางหายไป เรื่องนี้น่าเป็นห่วงมากหากจะยังปล่อยวางเอาไว้แบบนี้ เพราะไม่รู้ว่าจะต้องเสียเงินไปซื้อพลุมาจุดอีกมากเท่าไร หรือจะต้องรอจุดเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ (หรือไม่ก็ลอยกระทง)

เรามาลองค้นหาคำตอบด้วยกันไหมว่าทำไมโอเพนซอร์สในบ้านเราเป็นได้แค่ “พลุ” หนึ่งในคำตอบก็คงจะเป็นเรื่องของความเข้าใจผิดตั้งแต่แรกว่าโอเพนซอร์สนั้น เป็นของฟรีไม่เสียเงิน แทนที่จะมองว่าโอเพนซอร์สเป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมหรือการให้ (contribute) หลายคนบอกว่าเรื่องนี้ต้องไปโทษหน่วยงานที่ทำการโปรโมทให้ใช้โอเพนซอร์สที่ เอะอะก็ยกเรื่องฟรีขึ้นมาเป็นตัวนำ ทำเอาหลายคนเข้าใจว่านี่คือของฟรีที่ดีที่สุดในโลก พอเอาเข้าจริงๆ ก็กลายเป็นของฟรีที่ไม่ดีจริงไปซะอย่างนั้น

จะโทษหน่วยงานที่โปรโมทก็ไม่ได้ เพราะต้องยอมรับว่าข้อความแบบนี้มันส่งผลเร็วทันใจ คนจำนวนไม่น้อยที่พากันเฮโลเข้ามาลองของกันมากมาย แต่ด้วยความคาดหวังที่สูงมากๆ ทำให้ต้องผิดหวังแรงๆ เช่นกัน ก็โอเพนซอร์สไม่ใช่ของวิเศษที่จะแก้ปัญหาหรือทำงานให้ถูกใจใครไปได้ทั้งหมด แท้จริงแล้วมันเป็นสังคมของการแบ่งปันและมีส่วนร่วม ยกตัวอย่างเช่นหากใช้งานแล้วพบว่ามีข้อผิดพลาดหรือ errror คนใช้งานที่เข้าใจโอเพนซอร์สก็จะทำการรายงานข้อผิดพลาดกลับไปยังทีมพัฒนา เพื่อทำการแก้ไข (และคนอื่นที่มาใช้ทีหลังจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาแบบนี้อีก) ยิ่งทำซอฟต์แวร์ก็ยิ่งสมบูรณ์ขึ้น แต่เสียดายที่คนไทยน้อยคนนักที่จะทำแบบนี้ ตรงกันข้ามเวลาที่เจอปัญหานอกจากจะไม่ทำการแจ้งข้อผิดพลาดเท่านั้นยังไม่พอ ยังทำการเมาท์ทูเมาท์กันไปอีกว่า "ห่วย" ซึ่งการกระทำแบบนี้มันไม่แฟร์กับโอเพนซอร์สเลย ในสถานะการณ์เดียวกันถ้าเรื่องแบบนี้เกิดกลับซอฟต์แวร์ชื่อดังจาก Redmond การไม่แจ้งข้อผิดพลาดกลับก็เป็นสิ่งที่ทำเหมือนกัน แต่ไม่มีการเมาท์ทูเมาท์ต่อแต่อย่างไร หรือถ้าเกิดไปปรับทุกข์เรื่องนี้กับคนรอบข้างก็จะได้คำตอบว่า "ธรรมดามันเป็นเรื่องธรรมดา" เฮ้อ...คิดแล้วเหนื่อยใจอย่างบอกไม่ถูก

นั่นคงจะเป็นคำอธิบายได้ว่าทำไมเรื่องโอเพนซอร์สในบ้านเราถึงไม่แพร่หลาย มากอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งๆ ที่ประเทศเพื่อนบ้านเริ่มทีหลังแต่ก็ดูแล้วก้าวหน้าเป็นหลักเป็นฐานมากกว่า บ้านเรานัก พอถามความเห็นเรื่องนี้หลายคนก็ให้คำตอบคล้ายๆ จะโยนความผิดไปให้ระบบการปกครองกันเลยทีเดียว บอกว่าเวียดนามถ้านายพลสั่งว่าลีนุกซ์ก็ลีนุกซ์กันทั้งประเทศ แม้แต่จีนกับคิวบาก็ว่ากันไปว่าระบบการปกครองเอื้ออำนวย (น่าตกใจไหมครับว่าซอฟต์แวร์แห่งเสรีภาพที่เกิดจากชุมชนกลับไปเบ่งบานที่ ระบบสังคมนิยม)

แต่ประเทศในยุโรปที่เป็นประชาธิปไตยโอเพนซอร์ส์ก็ได้รับการยอมรับอย่าง มากมาย นี่คงพอจะตอบได้ว่าเรื่องของระบบการปกครองประเทศไม่น่าจะเกี่ยวข้อง กับเรื่องนี้... แล้วมันอยู่ที่ตรงไหนดีละ เอาเป็นว่าเปิดใจกันอย่างแฟร์ๆ ผมว่าคนไทยหลายคนยังไม่พร้อมที่จะรับโอเพนซอร์สซอฟต์แวร์ไปใช้ ส่วนใครที่เข้าใจและพร้อมใช้งานแล้วก็ขอแสดงความยินดีด้วย ส่วนใครที่ยังไม่เข้าใจคงต้องรอให้ซอฟต์แวร์เถื่อนหมดไปจากประเทศหรือไม่ก็ รอให้ BSA ไปจับ แล้วคุณหละคิดว่าทำไมโอเพนซอร์สบ้านเราถึงไม่คืบหน้าอย่างที่ควรจะเป็น...

ไม่มีความคิดเห็น: